การจ่ายภาษีนั้นถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญและจำเป็น สำหรับผู้มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ที่จะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก่อนที่จะยื่นภาษีควรมีการวางแผนที่ละเอียดและรอบคอบ พร้อมตรวจเช็กรายการลดหย่อนภาษีให้พร้อม ก่อนที่จะทำการยื่นภาษีในปี 2565 ส่วนรายการลดหย่อนภาษี 2564 จะมีอะไรบ้างนั้น BENIX ได้รวบรวมทุกสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษี 2564 ในบทความนี้ แบบครบในที่เดียว
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเงินได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง เงินเดือน หรือโบนัส จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่จะขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิของตนเอง ซึ่งคิดจากการนำเงินได้ทั้งปีมาหักกับค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนภาษีที่มีทั้งหมด
**กรณีที่รายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี หากเกินกว่านั้นจะเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% และจะสูงขึ้นตามอัตราภาษีแบบขั้นบันไดแต่รายการลดหย่อนภาษีต่างๆ จะช่วยทำให้รายได้สุทธิลดลง ทำให้เสียภาษีได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีเลย
โดยค่าลดหย่อนที่กล่าวมานี้คือสิทธิประโยชน์ที่จะช่วยให้เสียภาษีได้น้อยลง หรืออาจช่วยให้ผู้ยื่นภาษีได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากขึ้น การวางแผนลดหย่อนภาษีจึงถือเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องติดตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นภาษีในทุกปี เพื่อการลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องและครบถ้วน
รายการลดหย่อนภาษีปี 2564 มีอะไรบ้าง
กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไข
ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร จะจ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี ซึ่งสามีสามารถขอลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ ส่วนเอกสารหลักฐานที่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาล โดยครอบคลุมทั้งค่าฝากครรภ์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล
ค่าลดหย่อนบุตร จำนวนคนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรตามกฎหมายหรือเป็นบุตรบุญธรรม อายุบุตรไม่เกิน 20 ปี หรือ 25 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการเรียน ส่วนกรณีที่บุตรมีอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็ยังสามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- กรณีที่มีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย : สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ แต่จะต้องตามจำนวนบุตร
จริง
- กรณีที่มีเฉพาะบุตรบุญธรรม : สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท แต่สูงสุดที่ 3 คน
- กรณีที่มีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม : ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน กรณีที่บุตร
บุญธรรมเป็นบุตรคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าหากบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1 – 3 จะสามารถใช้
สิทธิบุตรบุญธรรมได้
ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน120,000 บาท แต่จะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งยังไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้ ซึ่งจะต้องมีการระบุลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ว่าบุตรคนใดจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบิดา/มารดา
ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และจะต้องมีหนังสือรับรองสำหรับการเป็นผู้อุปการะ
กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีประกัน เงินออม และการลงทุน
เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) สำหรับผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 และสามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 3,003 บาท เนื่องจากปี พ.ศ.2564 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 700 – 3,003 บาท ตามที่ได้จ่ายจริง โดยจำนวนเงินประกันสังคมที่ลดหย่อนได้สูงสุด เป็นข้อมูลในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีประกาศปรับลดส่งเงินสมทบอีกครั้งในช่วงปลายปี
เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ จะสามารถลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท แต่จะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป โดยจะต้องเป็นบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย หากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไข และไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และหากนำมารวมกับประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดาที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้รวมทั้งปี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ จะต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย ทั้งยังต้องมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งได้ให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15%ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่ต้องจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 13,200 ต่อปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ
**สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน RMF กองทุนรวม SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อนำมารวมกันทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท**
กลุ่มค่าลดหย่อนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย มีสิทธิสำหรับการลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
ซื้อบ้านหลังแรกในปี พ.ศ.2558 สามารถลดหย่อนได้ 20% ของราคาบ้าน โดยนำไปลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี (เฉลี่ยปีละ 4%) ส่วนที่อยู่อาศัยนั้นจะราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท
ซื้อบ้านหลังแรกในปี พ.ศ.2562 สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนที่อยู่อาศัยนั้นราคาไม่เกิน 5,000,000 บาท
ค่าลดหย่อนกลุ่มเงินบริจาค
เงินบริจาคทั่วไป สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงการบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ : จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยจะต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี ซึ่งจะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
กรณีเป็นผู้สูงอายุ : ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี โดยจะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล : สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้น สามารถใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ 1) แบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ 2) แบบ ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น ซึ่งจะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้
หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น
เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี สำหรับกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี
ช่องทางการยื่นภาษี
ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่สะดวก
ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th
ยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน จากนั้นจึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้
จะเกิดอะไรขึ้น หากยื่นแบบภาษีช้า
กรณีที่เรายื่นแบบภาษีล่าช้า ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ละเลย หรือเจตนาไม่ยอมชำระ จะต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีบทลงโทษมีดังนี้
กรณีที่ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ส่วนเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
กรณีที่ถูกเจ้าพนักงานตรวจสอบพร้อมออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้มีการยื่นแบบแสดงรายการไว้ หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากผู้ยื่นภาษีจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังต้องรับผิดพร้อมเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วในแต่ละกรณี ส่วนเงินเบี้ยปรับดังกล่าวนั้นอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
กรณีที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
กรณีที่จงใจแจ้งความเท็จ หรือแสดงหลักฐานที่เป็นเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ซึ่งจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จะมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งหมดนี้ก็คือรายละเอียดและความสำคัญของการยื่นภาษี เป็นหน้าที่ที่สำคัญและจะต้องมีการวางแผนสำหรับการลดหย่อนภาษี ซึ่งจำเป็นต้องอัปเดตเรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขค่าลดหย่อนภาษีที่กฎหมายกำหนดในทุกปี เพราะแต่ละปีอาจมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือกฎหมาย เพื่อการวางแผนลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยปกติแล้วการยื่นภาษีจะมีรอบการยื่นในช่วงสิ้นปีและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีถัดไป สุดท้ายนี้การวางแผนการเงินที่รัดกุมยังสามารถช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าและถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองได้อีกด้วย
ข้อมูลจาก
กรมสรรพากร, สำนักข่าว TNN, iTAX, Sanook, FINNOMENA, DDproperty
Kommentare