เมื่อไหร่กันนะที่ “Social Media” ได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลกับชีวิต จนอาจจะเรียกว่าคือปัจจัยที่ 5 ของเราไปแล้ว...??
เชื่อว่าสิ่งแรกหลังการตื่นนอนของคนทำงานหรือแทบจะทุกคน มักหยิบมือถือขึ้นมาเช็กข่าวสารความเคลื่อนไหวของสังคมและสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดีในการอัปเดตเทรนด์ใหม่อยู่ตลอดเวลา หากหยุดติดตามข่าวสารก็อาจพลาดเรื่องราวนั้นไปเลยก็ว่าได้ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจเข้าข่ายว่าเราติดSocial Media มากเกินไป จนลืมเงยหน้าขึ้นมาอยู่กับโลกความเป็นจริง
จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (Thailand Internet User Behavior) เมื่อปี 2563 ด้านสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทย ปี 2563 เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มากถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที โดยคิดเป็นคนไทยมากถึง 95.3% จาก 91.2% ในปี 2562 ซึ่งเป็นจำนวนผู้ใช้งานที่เล่นสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย
แต่การเสพสื่อมากเกินไปอาจเป็นดาบสองคมที่พร้อมจะย้อนมาทำร้ายคุณ!!
เพราะข่าวสารนั้นมีมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นข่าวหนัก ข่าวเบา หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและถูกเผยแพร่บนสื่อโซเชียล บ้างก็เป็นเรื่องดีและมีไม่น้อยที่เป็นเรื่องร้าย ซึ่งบั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ จนอาจส่งผลส่งผลกระทบต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ
เสมือนว่าการเสพสื่อโซเชียลก็ไม่ต่างอะไรกับการฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกาย แม้เรื่องนี้อาจดูไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรเลย แต่การเสพติด Social Media อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้มากกว่าที่คิด
ดังนั้นจึงควรมีการทำ “Social Media Detox” หรือการบำบัดอาการติดโซเชียลที่มากเกินพอดี สังเกตได้จากพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ที่บ่อยเกินไป จนส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน การทำ Social Media Detox จึงเข้ามาช่วยลดการเสพสื่อ Social Media เพื่อปรับสมดุลการใช้งานให้อยู่ในความพอดี เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยเฉพาะคนทำงานที่ช่วงนี้มักมีเวลามากกว่าเดิม จากมาตรการ Work from Home และอาจหมดเวลาไปกับการจมอยู่ในโลก Social Media เพราะการเสพสื่อเหล่านี้ที่เกินพอดีนั้นอาจส่งผลกระทบมายังคุณภาพของงาน ซึ่งการเสพสื่อ Social Media ที่มากเกินไปก็ไม่ต่างอะไรกับการฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
ทำไมการเสพสื่อ Social Media มากเกินไป เหมือนเป็นการฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกาย..??
1. Social Media ทำลายความเป็นส่วนตัว
สิ่งนี้อาจกัดกินเวลาในการใช้ชีวิตไปอย่างไร้ค่า เชื่อว่าหลายคนอาจเคยเป็นเช่นนี้ ก็คือการเข้า Facebook, Twitter หรือ Instagram ที่ตั้งใจเข้าไปส่องไม่นาน แต่พอรู้ตัวอีกทีก็กินเวลาไปเป็นชั่วโมงหรือแทบจะทั้งวัน ซึ่งก็ดูว่าไม่ได้แย่หรือผิดตรงไหน แต่ถ้ามันเข้ามากัดกินเวลาไปอย่างไร้ประโยชน์ คุณอาจพลาดที่จะใช้เวลาเหล่านี้กับกิจกรรมอื่น ๆ หรือการพักผ่อน
2. Social Media ทำลายความเป็นส่วนตัว
แค่เรามีการเคลื่อนไหวบนโลก Social Media ไม่ว่าใครก็สามารถสืบค้นทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเราได้ ต่อให้ตั้งค่าเป็น Privacy ไว้ก็ตาม เรื่องนี้จึงถือเป็นอันตรายต่อความเป็นส่วนตัวของเรา ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเราได้ ดังนั้นจึงควรคำนึงไว้เสมอว่าสิ่งที่เป็นความลับหรือความส่วนตัวของเรา หากได้เผยแพร่ออกไปบน Social Media สิ่งนั้นอาจไม่ใช่ความลับหรือเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป
3. Social Media คือโลกปลอมๆ
ต้องเตือนสติกันสักหน่อยว่า Social Media ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง ทุกอย่างล้วนผ่านการปรุงแต่งมาแล้วทั้งสิ้น เพื่ออะไรน่ะหรอ..?? เพราะคงไม่มีใครอยากลงในสิ่งที่ไม่อยากให้คนอื่นเห็น ดังนั้นจึงต้องเก็บซ่อนสิ่งไม่ดีเหล่านั้น และเลือกเผยแพร่แค่ด้านที่ดูดี จนบางครั้งเราในฐานะที่เป็นผู้เสพสื่อก็อาจหลงคิดว่าผู้นั้นคือคนที่สมบูรณ์แบบ จนอดนำมาเปรียบเทียบกับตัวเองไม่ได้ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาทำร้ายความสุขในการใช้ชีวิต
4. Social Media ทำให้หลงตัวเอง
บางคนมีความสุขจากการได้เห็นยอด Follow ,Like หรือ Shared ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากสิ่งที่โพสต์ออกไปในโลก Social Media เพราะนั่นอาจทำให้คุณคิดว่าการแสดงออกของคุณกำลังได้รับความสนใจ และการยอมรับจากผู้อื่น หากจำนวนการ Like & Share มากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ราวกับว่าคุณกำลัง Hot อยู่ในโลกใบนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะคุณอาจเกิดอาการหลงตัวเอง และติดกับดักกับจำนวน Like & Share บนโลก Social Media อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
5. Social Media ส่งผลต่อสุขภาพ
ไม่ว่าคุณจะเสพสื่อผ่านอุปกรณ์ไหนก็ตาม แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดนิ้ว ข้อมือ คอ แขน หรือหลัง หากมีอาการนาน ๆ เข้า นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่กำลังบอกว่าคุณต้องวางมือจาก Social Media ได้แล้ว! มิเช่นนั้นอาจส่งผลเสียในระยะยาว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการใช้สายตามากเกินไป จนทำให้ปวดตาและมีอาการเบลอ ทั้งยังส่งผลกระทบไปที่สมองอีกด้วย
6. Social Media ดึงเราให้อยู่กับมันแบบ 24/7
บางคนแทบไม่สามารถตัดความอยากรู้อยากเห็นข่าวสารบน Social Media ได้เลย ต้องคอยจดจ่ออยู่กับมันตลอดเวลาทั้งตอนตื่นตอนหรือแม้กระทั่งตอนกำลังจะนอน เรียกว่าเป็นสิ่งแรกและสิ่งสุดท้ายที่ทำในแต่ละวันเลยก็ว่าได้ แม้ในระหว่างวันก็ยังอาจรอคอยการแจ้งเตือนต่าง ๆ หรือ Refresh หน้าไทม์ไลน์อยู่บ่อย ๆ จนเสียเวลาในการทำอย่างอื่นที่สำคัญ บางคนอาจหนักถึงขั้นลืมให้ความสำคัญกับครอบครัวหรือคนใกล้ตัว เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับ Social Media
7. Social Mediaส่งผลกระทบต่ออารมณ์
เพราะข่าวสารเรื่องราวบนหน้าฟีดนั้นมีมากมายหลายประเภท บางเรื่องก็สร้างพลังบวกและบางอย่างก็สร้างพลังลบ หากเราอยู่ในจุดที่พอดีก็จะควบคุมอารมณ์ไม่ให้คล้อยตามในสิ่งที่เราเสพได้ แต่ถ้าหากจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นไม่ได้จนเก็บมาคิด สร้างความรบกวนต่ออารมณ์และจิตใจ นั่นอาจทำให้คุณต้องเสียความสุขในชีวิตจริงให้กับการเสพสื่อใน Social Media
8. Social Media ทำให้โฟกัสเรื่องที่จะโพสต์ว่าเรื่องที่จะทำ
ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ทั้งการกินข้าว ดูหนัง เที่ยว สังสรรค์ แทนที่จะโฟกัสกับความสุขเหล่านั้น แต่กลับหันไปโฟกัสว่าจะโพสต์เรื่องเหล่านี้ลง Social Media รูปแบบไหนดี เช่น การไปดูคอนเสิร์ตที่ควรจะโฟกัสกับเสียงเพลง เสียงดนตรี และศิลปินที่ชอบ แต่มัวแต่หยิบมือถือขึ้นมาไลฟ์สดหรือบันทึกวิดีโอ สุดท้ายคุณก็ไม่ได้เสพความสุขหรือบรรยากาศที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งบรรยากาศเหล่านั้นอาจไม่สามารถเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองแล้วก็ว่าได้ ดังนั้นจึงควรโฟกัสกับความสุขตรงหน้ามากกว่าการคิดว่าจะนำอะไรไปโพสต์ในสื่อ Social Media
เพื่อขับสารพิษออกจากร่างกาย ถึงเวลาที่ต้องฉีดวัคซีนเพื่อรักษา!
การทำ Social Media Detox จึงเปรียบเสมือนการทำดีท็อกซ์เพื่อเอาสารพิษออกจากร่างกาย แต่สำหรับการชำระเอาสารพิษที่เกิดจากสื่อสังคมออนไลน์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเสพสื่อ Social Media ออกไปจากร่างกายและจิตใจนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
1. แบ่งเวลาในการเล่นมือถือและไม่หมกมุ่นกับการแจ้งเตือน
เพื่อไม่ให้หมดเวลาไปกับ Social Media จนเสียงานเสียการ ควรแบ่งเวลาการทำงานกับการพักผ่อนออกจากกัน และเปลี่ยนการพักผ่อนด้วยการเลื่อนหน้าฟีดเพื่อดูข่าวสารหรืออัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เช่นการออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือสิ่งอื่นที่ไม่มีผลกระทบกับร่างกายและจิตใจ ที่สำคัญควรเว้นการเล่น Social Media ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อลดการรับแสงสีฟ้าที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว
2. ปิดการแจ้งเตือน (Notification)
แรก ๆ อาจยังไม่ชินกับการปิดการแจ้งเตือน เพราะกังวลว่าจะมีเหตุด่วนหรือเรื่องสำคัญเข้ามาหรือไม่ ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการปิดแจ้งเตือนสิ่งไม่สำคัญหรือไม่จำเป็นออกก่อน ส่วนสิ่งที่จำเป็นให้เปิดบ้างเป็นกรณีจำเป็น เพราะหากมีเหตุด่วนไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องอื่น ๆ ผู้ติดต่ออาจใช้การโทรสายตรงกันอยู่แล้ว
3. กำหนดหรือจำกัดเวลาการใช้งานแอปพลิเคชัน
ถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการกำหนดตายตัวไปเลย ว่าในหนึ่งวันควรเล่น Social Media แค่ช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ตัวเราถูกดึงไปอยู่ในโลกแห่งการเลื่อนฟีดและการกด F5 เรื่อย ๆ อย่างไม่จบไม่สิ้น พอเลื่อนจนเบื่อก็กด F5 แล้วเลื่อนลงต่ออีกเรื่อย ๆ
4. ลบแอปพลิเคชันออกจากเครื่อง
เมื่อไม้อ่อนไม่ได้ผลก็ต้องใช้ไม้แข็ง หักดิบการลดปริมาณการเสพสื่อ Social Media เพื่อการดีท็อกซ์และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน โดยการลบแอปพลิเคชันต่าง ๆ ออกไป เพื่อป้องกันการเผลอหยิบมือถือขึ้นมาดูการแจ้งเตือน เมื่อไม่พบแอปพลิเคชันบ่อย ๆ เข้าก็อาจสร้างความคุ้นชินจนไม่หยิบมือถือขึ้นมาดูในตอนที่ว่าง ซึ่งเราอาจใช้สมองกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น
**กรณีนี้ควรใช้เป็นยาแรงสำหรับการ Social Media Detox
5. วางมือถือให้ห่างมือในเวลานอน
หากมือถืออยู่ใกล้มือเราอาจเผลอหยิบขึ้นมาดูได้ง่าย ๆ จึงควรบังคับให้ตัวเองหยิบมาได้ยากที่สุด โดยการวางไว้ห่างมือเพื่อป้องกันการหยิบขึ้นมาเล่นในเวลาที่กำลังจะนอน อีกทั้งยังป้องกันการเล่นเพลินจนกินเวลาพักผ่อน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการทำงานในเช้าอีกวัน
6. ในนาฬิกาปลุกแทนการใช้มือถือ
การตั้งปลุกด้วยมือถือจะทำให้เราจับมือถือเป็นอย่างแรกหลังการตื่นนอน และอาจเผลอเข้าไปส่อง Social Media หรือเปิดอ่านแจ้งเตือน สุดท้ายอาจเสียเวลาเลื่อนหน้าฟีดจนกินเวลาในการทำกิจกรรมในชีวิตจริง
7. หากิจกรรมที่เป็นออฟไลน์
เชื่อว่าหลายคนที่ติด Social Media อาจเป็นเพราะว่างมากจริง ๆ ไม่มีกิจกรรมหรืองานอดิเรก ดังนั้นจึงควรมองหากิจกรรมที่ไม่ต้องทำบนมือถือหรืออุปกรณ์ที่ใช้เล่น Social Media ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด และหากเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับครอบครัวได้ก็จะยิ่งเป็นเรื่องดีมากขึ้นไปอีก
สุดท้ายนี้อยากให้ทำความเข้าใจกันว่า Social Media ไม่ใช่สิ่งที่มีแต่ผลเสีย แต่ด้านดี ๆ ก็มีอีกเยอะแยะมากมาย อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้งานในด้านที่ดีให้สมดุลได้อย่างไร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นผู้ใช้งานจึงต้องรู้เท่าทันและใช้งานให้เป็นเท่านั้นเอง
บทความจาก
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
Jeab, HI Power Shot, BAANKLUAYONLINE
Comments