นานแค่ไหนแล้วที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนมาทำงานผ่านทางไกลหรือการ Work from Home โดยการเปลี่ยนสถานที่ทำงานมาเป็นที่บ้านอาจสั่งสมความเครียดจากงานได้มากยิ่งขึ้น เพราะบ้านคือสถานที่พักผ่อนและบางมุมของบ้านยังอาจเป็นที่ผ่อนคลายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อสถานที่เหล่านี้ต้องกลายเป็นสถานที่ทำงานหรือการประชุม จะยิ่งส่งผลให้เกิดความเครียดมากขึ้นไปอีก
เมื่อชีวิตประจำวันเช่นนี้ได้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จะเริ่มส่งผลกระทบทางจิตใจ ทั้งจากเรื่องงานและความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 หากไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ อาจก่อให้เกิดความเครียด รู้สึกท้อ หรือวิตกกังวล จนนำพาไปสู่ “อาการซึมเศร้า” ซึ่งอาการเหล่านี้นับเป็นอาการทางจิตเวช ที่ไม่ควรมองข้ามและไม่ควรปล่อยไว้!
โรคซึมเศร้าคือ...??
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวช หรือชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Depression เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง หรือส่วนที่มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความรู้สึก อารมณ์ พฤติกรรม จนไปถึงการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การดำเนินชีวิตในประจำวันเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก เช่น ความทุกข์มีผลกระทบโดยตรงกับอารมณ์ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ หรือวิตกกังวล ซึ่งสามารถส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นมีความคิด “ฆ่าตัวตาย”
ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 1.5 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาที่มีมาตรการ Work from Home โดยแต่ละคนอาจมีอาการของโรคที่แตกต่างกัน เพราะโรคซึมเศร้านั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่อาการที่กลุ่มคนวัยทำงานเป็นมากที่สุดมีจะ 3 ประเภท ได้แก่
> Major Depression
อาการซึมเศร้าที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการกิน การนอน และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
โดยประเภทนี้จะทำให้มีอาการซึมเศร้าชวนอยากร้องไห้ หรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ ซึ่งจะมีการแสดงอาการ
บ่อยครั้งใน 1 วัน หรืออาจเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
> Dysthymia Depression
อาการซึมเศร้าแบบเรื้อรังที่มาเป็นพักๆ พอหายดีแล้วก็อาจกลับมาเป็นใหม่ โดยจะเป็นติดต่อกันประมาณ
2 – 5 ปี ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเบื่อหรือเศร้า แต่ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
> Bipolar Disorder
ประเภทนี้จะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนที่มีอารมณ์สองขั้ว หรือที่ทั่วไปเรียกกันว่า ‘ไบโพลาร์’โดยผู้ป่วยจะมี
อาการซึมเศร้า รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต แต่จะสลับกับอีกอารมณ์ที่ตรงกันข้ามก็คือจะมีอาการคึกคักหรือ
หงุดหงิด ซึ่งอาการประเภทนี้ยังอาจส่งผลต่อการตัดสินใจและมักก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
เพราะอะไร...?? โรคซึมเศร้าถึงได้พบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน
แม้แต่ละคนจะเป็นโรคซึมเศร้าคนละประเภทกัน แต่เมื่อแบ่งแยกเหตุและผลของอาการเหล่านี้ จะสามารถบอกได้ว่าอาการซึมเศร้านั้นก่อเกิดจาก 4 ปัจจัย ดังนี้
1. กรรมพันธุ์
หากในครอบครัวมีผู้เป็นโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิต ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่หากมีคนใดคนหนึ่งเป็น ในรุ่นลูก
จนไปถึงรุ่นหลานจะมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไปมากถึง 20% แต่ยังไม่มีผลการยืนยันที่
ชัดเจนว่าโรคซึมเศร้านั้นเกิดจากยีนส่วนไหนที่มีผลทำให้เกิดโรคนี้
2. สารเคมีในสมอง
เมื่อการหลั่งของสารเคมีในสมองเกิดขาดความสมดุล จะส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่าย โดยสารที่หลั่งออกมา
นั้นประกอบไปด้วย Serotonin, Dopamine และ Norepinephrine ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเครียด
มากกว่าปกติ และส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้านั่นเอง
3. สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่มีความเครียด
และความกดดันสูง เมื่อสิ่งเหล่านี้สะสมเข้ามากๆ จะสามารถกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างง่ายดาย เช่น ปัญหา
การหย่าร้าง พ่อแม่แยกทางกัน การตกงาน หรือภาวะความเครียดจากที่ทำงาน
4. อุปนิสัยส่วนตัว
ผู้ที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตนเอง คิดเสมอว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หรือเป็นคนมองโลกในแง่ลบ มองทุกสิ่งอย่าง
ในแง่ร้ายไปเสียหมด ผู้ที่มีนิสัยเช่นนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
จาก 4 ปัจจัยที่กล่าวมาสามารถโยงใยเข้าสู่เรื่องความเครียด ความกดดัน และหมดไฟ ที่พบเจอได้มากที่สุดในช่วงวัยทำงาน เมื่อต้องพบเจอเป็นเวลานานและไม่สามารถจัดการกับสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการทำงานจากทางไกล หรือ Work from Home ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) และทำให้เกิดผลเสียต่างๆ ตามมา
มีผลสำรวจจาก Microsoft Work Trend Index 2021 ได้ระบุถึงการ Work from Home โดยมีใจความสำคัญว่าการทำงานจากทางไกลทำให้มีการประชุมเพิ่มมากขึ้นถึง 148% และมีการส่งอีเมลถึงกันในช่วงปี 2020 – 2021 เพิ่มมากขึ้นถึง 40.6 ล้านฉบับ ซึ่งมีเรื่องที่แปลกใจก็คือบางองค์กรกลับได้ผลงานจากพนักงานมากกว่าการทำงานที่บริษัทเสียด้วยซ้ำ และหลายองค์กรก็ไม่ได้มีผลงานจากพนักงานที่น้อยลงเลย
แต่การทำงานในลักษณะนี้จะทำให้พนักงานทำงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความเบื่อหน่าย เหนื่อยล้า ความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลกระทบทั้งกับร่างกายและจิตใจ จนสุดท้ายพนักงานเกิดภาวะหมดไฟหรือ burnout ที่เป็นตัวกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้า เมื่อไม่สามารถจัดการกับอำนาจคำสั่งในการทำงานได้จะยิ่งก่อให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง และเกิดอารมณ์ในด้านลบ
**ยกตัวอย่างเหตุผลที่อาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าจากการทำงาน
> ปริมาณงานมีมากเกินไปและไม่สัมพันธ์กับเงินเดือนที่ได้รับ
> งานประจำกัดกินเวลานอก ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย และไม่เหลือเวลาในการทำงานอดิเรก
> มีทัศนคติและแนวคิดที่ไม่ตรงกับองค์กร แต่จำเป็นต้องทำงานที่เดิมอยู่
> ฝืนทำงานที่ไม่ตรงสายหรือไม่ตรงใจกับที่ตนเองชอบ
> ได้รับงานในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด โดยไม่มีคำแนะนำที่ถูกต้อง และถูกตำหนิติเตียนอยู่บ่อยครั้ง
> มีการกลั่นแกล้งภายในองค์กร จนไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานคนไหนได้
> สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี ไม่มีการอำนวยความสะดวกในสิ่งที่ควรทำ
เมื่อพนักงานเข้าสู่การเป็นโรคซึมเศร้าที่ส่งผลต่อการตัดสินใจและการกระทำ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อองค์กรไม่มากก็น้อย ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ผลงานมีคุณภาพน้อยลง งานผิดพลาดมากขึ้น ความกระตือรือร้นมีลดน้อยลง หมดไฟในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับองค์กร เป็นต้น ซึ่งหากรู้ว่าพนักงานคนไหนเป็นโรคซึมเศร้าจะต้องให้การช่วยเหลือโดยด่วน!
โดยมีข้อแนะนำจากนิตยสารเกี่ยวกับคนทำงานด้านธุรกิจอย่าง “Harvard Business Review” (HBR) กับเนื้อหาที่เกี่ยวกับการรักษาใจให้แก่พนักงาน ซึ่งเผยถึงคำแนะนำสำหรับการช่วยเหลือพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้า ดังนี้
> ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนให้คำแนะนำกับพนักงาน
Kelly Greenwood ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Mind Share Partners ที่ให้ความสนใจเกี่ยว
กับสุขภาพจิตในที่ทำงานเผยว่า แม้หัวหน้าจะไม่ได้เป็นนักจิตวิทยา หมอ หรือผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตเวช แต่
พนักงานอาจเลือกเปิดใจบอกสิ่งนี้กับคุณเพราะคุณมีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานของเขา ดังนั้นก่อนที่จะให้คำ
ปรึกษากับพนักงานจึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นเสียก่อน เพื่อการให้ข้อมูลที่ดีและถูกต้อง ไม่ทำให้
พนักงานหลงทางไปมากกว่าเดิม
> เปิดใจรับฟังอย่างจริงใจและไม่ด่วนสรุป
หัวหน้าควรเปิดโอกาสให้พนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้า ได้พูดในสิ่งที่ตนเองอยากพูดเท่านั้น ไม่ควรฝืนใจหรือ
ตัดสินก่อนที่จะรับฟังจนจบเรื่อง โดยในระหว่างการรับฟังพนักงานไม่ควรมีท่าทีที่ไม่เต็มใจ อึดอัด หรือแสดง
อาการว่ากลัวในสิ่งที่พนักงานเป็น เพราะนั่นอาจทำให้พนักงานไม่กล้าพูดอีกต่อไป อีกทั้งยังไม่ควรถามคำถาม
ที่กระทบต่อจิตใจของพนักงาน
> ช่วยเหลือพนักงานตามความเหมาะสม
การที่พนักงานเข้ามาปรึกษาหรือเราเข้าไปให้การช่วยเหลือ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาเปลี่ยนแปลงงาน หรือ
มอบสิทธิพิเศษใด ๆ อาจเป็นแค่การเปิดใจรับฟังเพื่อความสบายใจหรือแจ้งให้ทราบเท่านั้น ดังนั้นหัวหน้าจึงไม่
จำเป็นต้องคิดไปใหญ่โตว่าจะช่วยเหลืออย่างไรดี หากต้องการช่วยเหลือในสิ่งที่พนักงานเป็นจริง ๆ อาจให้กฎ
การทำงานที่ยืดหยุ่นเกี่ยวกับการลาไปพบจิตแพทย์ เป็นต้น
> สร้างความสบายใจให้พนักงานเมื่อต้องอยู่ในองค์กร
พนักงานอาจรู้สึกอึดอัดที่ต้องทำงานกับหัวหน้าที่เก่งและสมบูรณ์แบบ จนพนักงานไม่กล้าที่จะเข้าถึงหรือขอ
ปรึกษาปัญหาสุขภาพใจ ดังนั้นจึงควรสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ดูไม่ตึงเครียด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราคือ
หัวหน้าที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถปรึกษาเรื่องต่างๆ ได้ เพราะหากพนักงานไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือ
การปรึกษาที่ดี ปัญหาด้านสุขภาพจิตอาจทวีความรุนแรงจนรักษาหายได้ยาก
> ขอบคุณพนักงานที่กล้าเปิดใจปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิต
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะกล้าบอกคนอื่นว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า เพราะกลัวการพูดออกไปแล้วจะทำให้มี
ผลกระทบต่างๆ ตามมา การที่พนักงานกล้าที่จะเปิดใจจึงถือเป็นเรื่องที่ควรขอบคุณ เพราะพนักงานอาจเกรง
ว่าอาการที่เป็นอยู่จะส่งผลกระทบกับงานและองค์กร ดังนั้นจึงควรขอบคุณกับพนักงานอย่าสุภาพและจริงใจ
ไม่แสดงออกว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่แต่อย่างใด เพราะอาจทำให้พนักงานรู้สึกกลัวว่าสิ่งนี้จะส่ง
ผลกระทบต่อการทำงานในอนาคต
> รักษาความลับให้แก่พนักงาน
เมื่อพนักงานกล้าที่จะก้าวเข้ามาปรึกษา หน้าที่ของผู้ให้การช่วยเหลือที่สำคัญก็คือการรักษาความลับนี้ และ
ต้องแสดงออกให้พนักงานเห็นว่าเราจะเก็บรักษาความลับนี้ได้เป็นอย่างดี หากจำเป็นต้องแจ้งหรือปรึกษา
เรื่องนี้กับฝ่ายบุคคล เกี่ยวกับสิทธิแรงงานพึงได้รับจากการรักษาสุขภาพจิต จะต้องขออนุญาตพนักงานราย
นั้นให้เขายินยอมเสียก่อน หากพนักงานไม่ยินยอมอาจบอกกล่าวต่อฝ่ายบุคคลเกี่ยวกับสุขภาพจิต โดยไม่เปิด
เผยชื่อพนักงานไปโดยตรง เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวให้แก่พนักงาน
แต่เรื่องนี้อาจไม่ใช่หน้าที่ของหัวหน้าเพียงอย่างเดียว เพื่อนร่วมงานเองก็สามารถเป็นหูเป็นตาให้กับองค์กรได้ แต่ไม่ใช่เป็นการสังเกตเพื่อการจับผิด เพราะเหตุผลที่ต้องคอยส่องสอดดูแลในเรื่องนี้ก็เพื่อตัวผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเอง และป้องกันผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นและมีผลกับทั้งองค์กร อีกทั้งเพื่อนร่วมงานจะได้ไม่เผลอทำในสิ่งที่ไม่ควรทำต่อผู้ที่มีปัญหาในด้านนี้ เช่น การพูดในสิ่งที่กระทบต่อจิตใจ หรือติดใจสงสัยในสิ่งที่เขาไม่กล้าตอบออกมา เป็นต้น
ความจริงแล้วโรคซึมเศร้านั้นไม่เหมือนกับโรคจิตเวชอื่นๆ ที่รักษาได้ไม่หาย 100% แต่สามารถหายขาดได้หากมีการดูแลสุขภาพกายใจให้ดี และมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถหายได้เอง หากผู้เป็นสามารถปรับตัวเพื่อไม่ให้อาการของโรคแสดงออกมาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค หากอยู่ในเกณฑ์ที่อันตรายควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากจิตแพทย์โดยตรง
การพบจิตแพทย์นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องที่น่ากลัว โรคซึมเศร้านั้นไม่ต่างกับโรคทั่วๆ ไปที่ควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อการใช้ชีวิตที่ดี อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งจากที่องค์กรและการทำงานจากทางไกล เช่นเดียวกับพนักงานทุกคน
ต่อจากนี้ องค์กรควรเพิ่มการเอาใจใส่พนักงาน เพื่อให้พนักงานมีความสุขมากยิ่งขึ้นทั้งเรื่องการทำงานและชีวิตส่วนตัว สามารถสบายใจเมื่อได้อยู่กับองค์กรและสามารถหันไปโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรเป็น และพาองค์กรบรรลุสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ข้อมูลจาก
กรมสุขภาพจิต, โรงพยาบาลพญาไท,Doctor Raksa, Techsauce, POPPA
Comments