ชีวิตการทำงานนั้นต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันมากมาย การใช้วันลาหยุดพักร้อนไปกับการพักผ่อนหย่อนใจ จึงช่วยผ่อนปรนความเหนื่อยล้าและสร้างความสุขให้แก่คนทำงานทุกคน แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าสิทธิการลาพักร้อนตามกฎหมายนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง สิ่งไหนที่สามารถทำได้และสิ่งไหนไม่สามารถทำได้ วันนี้ BENIX ได้รวบรวมข้อมูลทั้งด้านของกฎหมายและข้อสงสัยต่าง ๆ ได้ครบจบในที่เดียว พร้อมด้วยเทคนิคการบริหารวันลาพักร้อนโดยไม่ให้เสียงาน
วันหยุดพักผ่อนประจำปี คืออะไร และมีเกณฑ์การใช้สิทธิอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องขออธิบายว่าตามกฎหมายแรงงานนั้นไม่มีคำว่า “ลาพักร้อน” แต่จะใช้คำที่เป็นทางการว่า “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” โดยคำนี้หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541เป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะต้องได้รับอย่างเหมาะสม ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 ได้ระบุไว้ว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือที่หลายคนเรียกว่าการลาพักร้อน อย่างน้อย 6 วัน/ปี แต่นายจ้างสามารถให้มากกว่านั้นได้ตามนโยบายของแต่ละบริษัท เช่น 8 วัน 9 วัน 12 วัน หรือมากกว่านั้น ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน แต่อย่างไรก็ตามห้ามน้อยกว่า 6 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดโดยเด็ดขาด
อายุงานเท่าไหร่ถึงจะมีสิทธิใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี
ลูกจ้างมีสิทธิใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายเมื่อทำงานครบ 1 ปี หรือเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อทำงานเข้าสู่ปีที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น นายนันทกรเข้าทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งในวันที่ 1 เมษายน 2564 เมื่อทำงานครบ 1 ปี ในวันที่ 31 มีนาคม 2565 จากนั้นนายนันทกรก็จะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งสามารถใช้สิทธินี้ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
อย่างไรก็ตามบริษัทอาจให้สิทธิพนักงานที่เข้าทำงานในระหว่างปี ได้วันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระยะเวลาในการทำงานของปีนั้น ยกตัวอย่างเช่น นายศุภสิทธิ์เข้าทำงานวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เมื่อเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2565 นายศุภสิทธิ์ได้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 2 วัน (เฉลี่ยทำงาน 2 เดือนจะได้สิทธิ 1 วัน) ที่สามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นต้น
วันหยุดพักผ่อนประจำปีเก็บไว้ได้นานแค่ไหน สามารถทบไปปีหน้าได้หรือไม่
วันหยุดพักผ่อนประจำปีสามารถเก็บไว้ใช้ได้ปีต่อปี เช่น บริษัทให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จะสามารถใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นต้น ส่วนการเก็บวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพื่อสะสมไปใช้ในปีหน้าสามารถทำได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ระบุไว้ใน พรบ.คุ้มครองแรงงาน แต่บริษัทสามารถมีนโยบายให้ทบหรือสะสมไปใช้ในปีต่อไปได้ หรือกำหนดให้ใช้เฉพาะปีนั้น ๆ ก็ได้เช่นกัน โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมายแต่อย่างใด
หยุดพักผ่อนประจำปีต้องแจ้งเหตุผลหรือไม่
กฎหมายไม่ได้บังคับให้ลูกจ้างต้องแจ้งเหตุผลแก่นายจ้าง แต่มีการกำหนดวิธีการไว้ 3 ทางเลือกด้วยกันก็คือ นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือกรณีที่วันพักร้อนคงเหลือนายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้เพื่อทดแทนวันหยุด
ดังนั้น การที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้ลูกจ้างต้องแจ้งเหตุผล แต่นายจ้างมีสิทธิที่จะสอบถามถึงเหตุผลในการใช้วันหยุด เพื่อใช้สำหรับการประกอบการพิจารณาอนุมัติ เพื่อจัดสรรวันหยุดของพนักงานให้สอดคล้องกับงานในองค์กร เช่น หากช่วงที่มีงานเยอะและพนักงานไม่มีเหตุผลที่จำเป็นมากจริง ๆ ก็อาจไม่ได้รับการอนุมัติ และหากงานยุ่งจนไม่ได้สามารถหยุดได้องค์กรจะต้องชดเชยให้เป็นเงินแทน ส่วนกรณีที่งานไม่ได้ยุ่งมากพนักงานก็สามารถใช้วันหยุด โดยไม่ต้องแจ้งเหตุผลต่อนายจ้าง
อย่างไรก็ตามนายจ้างไม่ควรล่วงเกินเรื่องส่วนตัวของพนักงานมากเกินไป เพราะพนักงานก็มีสิทธิที่จะใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี ดังนั้นจึงควรสอบถามแค่พอสังเขป
หยุดพักผ่อนประจำปีควรแจ้งล่วงหน้านานแค่ไหน
ตามกฎหมายหรือ พรบ.คุ้มครองแรงงาน ไม่ได้ระบุไว้เช่นกัน แต่หลายองค์กรมักจะให้ทำการแจ้งล่วงหน้าตั้งแต่ 3 วัน จนไปถึง 1 เดือน แล้วแต่ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของแต่ละคนหรือแต่ละตำแหน่ง แต่ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้มีการบังคับหรือกำหนดบทลงโทษทางกฎหมาย พนักงานก็ควรที่จะแจ้งการใช้วันหยุดล่วงหน้าตามความเหมาะสม หรือตามที่นโยบายของบริษัทกำหนดไว้ เพราะการใช้วันหยุดกะทันหันอาจส่งผลกระทบต่องานของตนเองและเพื่อนร่วมงานคนอื่น จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายและนำพาไปสู่การเลิกจ้างหรือฟ้องร้องในภายหลัง
หยุดพักผ่อนประจำปีแล้วโดนหักเงิน ผิดกฎหมายหรือไม่
พนักงานทำงานจนครบ 1 ปี จะมีสิทธิได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างน้อย 6 วัน ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 30 หากบริษัทไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่พนักงานใช้สิทธิวันหยุดจะถือว่า ‘ผิด’ ต่อข้อกฎหมาย ส่วนพนักงานที่ยังทำงานไม่ครบ 1 ปี จะไม่มีสิทธิใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างจึงมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างกรณีที่พนักงานใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี เนื่องจากยังไม่มีสิทธิใช้วันหยุดนี้
ลูกจ้างรายวันมีสิทธิใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่
ลูกจ้างที่เป็นแบบรายวันจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เหมือนกับลูกจ้างรายเดือนเกือบทุกอย่าง จะแตกต่างกันตรงที่มาตรา 56 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ระบุไว้เกี่ยวกับวันหยุดทั้ง 3 ประเภทของลูกจ้าง ได้แก่
วันหยุดประจำสัปดาห์ที่จะได้รับค่าจ้างเฉพาะลูกจ้างรายเดือนเท่านั้น
วันหยุดตามประเพณี
วันหยุดพักผ่อนประจำปี
โดยจะเห็นได้ว่าค่าจ้างที่ลูกจ้างรายวันจะไม่ได้รับมีเพียงแค่วันหยุดประจำสัปดาห์เท่านั้น ส่วนวันหยุดอื่น ๆ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายวันด้วย ทั้งยังรวมไปถึงค่าจ้างอื่น ๆ ในวันลาทุกประเภทที่ลูกจ้างรายเดือนได้รับ เพราะตามกฎหมายเกือบทุกมาตรา ไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าเป็นลูกจ้างประเภทไหนนั่นเอง
ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่หมด ขอเปลี่ยนเป็นค่าจ้างได้หรือไม่
เหตุการณ์นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ประการแรกคือการที่นายจ้างไม่ได้จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนประจำปี ดังนั้นนายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง เพราะตามกฎหมายได้กำหนดให้อัตราค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี มีค่าเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตามปกติ
ส่วนอีกกรณีคือ หากนายจ้างมีการกำหนดหรือจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว แต่ลูกจ้างเลือกที่จะไม่หยุดและประสงค์จะเข้ามาทำงานด้วยความสมัครใจโดยไม่มีคำสั่งจากนายจ้าง กรณีนี้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามมาตรา 56 แต่ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา 62 เนื่องจากกรณีนี้ไม่ถือว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด
เมื่อเข้าใจในเรื่องของข้อสงสัยและข้อมูลทางด้านกฎหมายกันไปแล้ว BENIX จึงขอนำเทคนิคการบริหารพักร้อนแบบไม่ให้เสียงานมาฝาก เพราะหลายคนอาจมีเหตุผลที่ทำให้ไม่กล้าใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี เช่น กลัวเพื่อนร่วมงานมีงานเพิ่มจากการใช้วันหยุดของเรา หรือหัวหน้าเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษเพราะหยุดมากเกินไป
ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจว่าการใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นไม่ใช่เรื่องผิด ตามที่ข้อกฎหมายข้างต้นระบุไว้ แต่ก่อนที่จะใช้สิทธิวันหยุดนี้จะต้องมั่นใจว่าเราได้บริหารจัดการงานเป็นที่เรียบร้อย ไม่ทิ้งงานหรือปัญหาต่าง ๆ ไว้ให้เพื่อนร่วมงานต้องมารับผิดชอบแทน เพื่อสามารถใช้วันหยุดได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะมีใครก่นด่าว่ากล่าวตามหลังมาหรือไม่
เทคนิคการบริหารวันหยุดพักผ่อนประจำปีแบบไม่ให้เสียงาน มีดังนี้
1. การวางแผนระยะยาว
ส่วนใหญ่การหยุดพักผ่อนประจำปีมักจะมีการวางแผนในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรกระทำ เช่น การแจ้งกับหัวหน้า
และเพื่อนร่วมงานตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะการลางานแบบกะทันหันที่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กนั้น อาจส่งผล
กระทบมากมายทั้งกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งดูไม่เป็นธรรมกับพวกเขาเอาเสียเลย ดังนั้น จึงต้องมีการแจ้ง
ให้ทราบล่วงหน้าเพื่อทุกคนจะได้มีการวางแผนรองรับระหว่างการพักร้อนของเรา
2. เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม
แม้การหยุดพักผ่อนประจำปีจะเป็นสิทธิที่ลูกจ้างได้รับเมื่อทำงานครบกำหนด แต่ไม่ใช่ว่าจะเลือกหยุดช่วงไหนหรือ
วันไหนก็ได้ เพราะควรดูความเป็นไปได้ของแต่ละช่วงเวลา ว่าควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เช่น ในช่วง
เวลาที่ต้องปิดงานเพื่อส่งลูกค้า ก็ไม่ควรหายไปกับการหยุดพักผ่อนประจำปีโดยที่ไม่มีความจำเป็น หรือไม่มีการ
วางแผนงานเพื่อให้ผู้อื่นดำเนินการต่อจากเราได้ ทางที่ดีจึงควรเลื่อนไปใช้ในวันหยุดในวันที่เคลียร์งานเรียบร้อย
หรือช่วงที่งานไม่ยุ่งจริง ๆ เพราะการทำงานร่วมกันเป็นทีม ควรประกอบไปด้วยการให้เกียรติและความเห็นอก
เห็นใจเพื่อนร่วมทีม เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพทั้งของทีมและขององค์กร
3. จัดการงานให้เสร็จเรียบร้อยก่อนหยุดพักผ่อน
เมื่อแจ้งวันที่ต้องการหยุดพักผ่อนประจำปีเรียบร้อย สิ่งต่อไปก็คือการสะสางงานให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้มีงาน
ค้างที่ส่งผลให้งานของผู้อื่นติดขัดไปด้วย โดยเฉพาะสำหรับการหยุดยาว การสะสางงานในหน้าที่รับผิดชอบมีความ
จำเป็นอย่างสูง เพื่อนงจากเราไม่ควรทิ้งภาระงานไว้ให้เพื่อนร่วมงานต้องเกิดความยุ่งยาก นอกเหนือจากนั้นควร
มีการเตรียมความพร้อม และมอบหมายงานที่ชัดเจน โดยบอกรายละเอียดงานอย่างครบถ้วน พร้อมเทคนิคในการ
ทำงาน เพื่อทำให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายงานต่อจากเราสามารถทำงานได้อย่างง่ายที่สุด
4. กำหนดช่องทางสำหรับการติดต่อ
การที่ลูกจ้างใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างไม่ควรรบกวนลูกจ้างไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม แต่สิ่งไม่คาดคิดหรือ
เหตุการณ์ฉุกเฉินอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงควรกำหนดช่องทางสำหรับการติดต่อในกรณีนี้ที่ชัดเจน เช่น การส่ง
อีเมลแจ้งเรื่องที่ต้องการติดต่อ หรือการทิ้งข้อความให้ติดต่อกลับในเวลาที่สะดวกผ่านLINE เป็นต้น แต่ถ้าหากมี
การวางแผนงานได้มีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถช่วยลดการติดต่อระหว่างช่วงเวลาพักผ่อนนี้ได้อย่างแน่นอน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็คือข้อกฎหมายและข้อสงสัยเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือที่หลายคนเรียกว่าการลาพักร้อน หากเราสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งฝั่งของนายจ้างและลูกจ้าง ก็จะสามารถใช้วันหยุดได้อย่างราบรื่น ไม่กระทบต่อการทำงาน และไม่ขัดต่อข้อกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน
ข้อมูลจาก
กระทรวงแรงงาน, สำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และJobs DB
Comments