top of page

OUR

ARTICLES

  • พญ.เบญจพร นันทสันติ, โรงพยาบาลพญาไท

คุณกำลังเป็น..โรคอ้วนหรือเปล่า!

เพราะความอ้วนไม่ใช่แค่เรื่องของน้ำหนักตัวที่มากเกินค่าดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นภาวะที่อันตรายกับร่างกายได้ หากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทำให้เรากลายเป็นโรคอ้วนขึ้นมา เนื่องจากเป็นหนึ่งในชนวนสาเหตุการเกิดโรคร่วมได้อีกหลายโรค


โรคอ้วน

โรคอ้วน (Obesity)

คือ ภาวะที่มีน้ำหนักตัว หรือสัดส่วนไขมันในร่างกายมากผิดปกติ โดยใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) เป็นตัวกำหนด

คุณสามารถคำนวณค่า BMI ได้เองจาก น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 79 kg ส่วนสูง 155 cm หรือ 1.55 m BMI = 79 / (1.55x1.55) = 32.88 kg/m² ที่มีส่วนช่วยให้ Probiotic เติบโตได้ดีขึ้นนั่นเอง


ค่าดัชนีมวลกายเท่าไรจึงเรียกว่า “โรคอ้วน”

ปกติแล้วควรมีค่า BMI อยู่ที่ 18.5 - 22.9 kg/m2 หากมากหรือน้อยกว่านี้ จะเกิดภาวะทุพโภชนาการและโรคต่างๆ


> ค่า BMI 23.0 – 24.9 kg/m² เรียกว่า “น้ำหนักเกิน”

> ค่า BMI > 25 kg/m² เรียกว่า “โรคอ้วน”


ด้วยวิถีชีวิตยุคสมัยนี้ทำให้คนเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก คนไทยเกือบหนึ่งในสามมีน้ำหนักตัวมากจนเป็นโรคอ้วน และเป็นอันดับสองของภูมิภาคอาเซียน รองจากมาเลเซีย ส่วนประเทศที่ประชากรเฉลี่ยอ้วนที่สุดในโลกคือ สหรัฐอเมริกา และจีน


ความน่ากลัวของโรคอ้วน คืออะไร

โรคอ้วน หากมองเพียงเรื่องน้ำหนักมาก ขนาดตัวที่ใหญ่ ใส่เสื้อผ้าไม่มั่นใจ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ ความสวยความงาม นับว่ากลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย หากเทียบกับสิ่งที่จะตามมาเมื่อเป็นโรคอ้วน นั่นก็คือ “โรคร่วมจากความอ้วน” ซึ่งเกิดจากไขมันที่สะสมตามอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า และยิ่งอ้วนมากยิ่งจะมีโอกาสเสียชีวิตได้เร็วกว่าคนทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี


โรคร่วมที่เกิดจากภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน

> ฮอร์โมนและเมตาบอลิค – ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่สอง ไขมันในเลือดสูง

> สมอง – โรคซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

> คอ – นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA)

> ระบบการหายใจ – หอบหืด เหนื่อยง่าย ความดันปอดสูง

> ระบบไหลเวียนโลหิต – โรคหัวใจ เช่น หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย

> ทางเดินอาหาร – ไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งตับ มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้

> ทางเดินปัสสาวะ – ปัสสาวะติดเชื้อบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้

> ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง – ถุงน้ำรังไข่ ประจำเดือนผิดปกติ ภาวะมีบุตรยาก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็ง มดลูก

> ระบบสืบพันธุ์เพศชาย – มะเร็งต่อมลูกหมาก

> กระดูกและข้อ – ปวดข้อ ข้อเสื่อมก่อนวัย โดยเฉพาะข้อรองรับน้ำหนัก เช่น หลัง สะโพก เข่า ข้อเท้า

> ผิวหนัง – สิว ขนดก ผิวหนังติดเชื้อ อักเสบ เป็นฝีบ่อย เชื้อรา มีกลิ่นตัว


คงจะดีกว่าถ้าหันมาลดน้ำหนักเพื่อบอกลาปัญหาโรคอ้วน และบอกลาจากโรคร่วมที่ทำร้ายสุขภาพ


ลดความอ้วนได้ โรคก็หายได้!

พบว่าผู้ที่มีโรคอ้วนแล้ว หากลดน้ำหนักลงได้มากพอ โรคร่วมหลายชนิดสามารถดีขึ้นจนถึงหายขาดได้ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน หลังผ่าตัดลดความอ้วน ซึ่งมักทำให้น้ำหนักลงได้มากหลายสิบกิโลกรัม พบว่าผู้ป่วยกว่า 66-73% หายจากโรคเบาหวาน (ประเมินจากผลเลือดหลังผ่าตัดมี HbA1C < 6.5, FBS < 126 mg/dL โดยไม่ต้องใช้ยาเบาหวานใดๆ แม้ติดตามไปถึง 5 ปี) ลดโอกาสกลับมาเป็นเบาหวานอีก ลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น ไตเสื่อม ฟอกไต ตามัว เท้าเบาหวาน ...เพราะฉะนั้นคุณพร้อมจะโบกมือลาโรคอ้วนหรือยัง? อ้วนได้ก็ลดได้ ลดแล้วสุขภาพดี อยู่อย่างแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตดี


จะลดน้ำหนักอย่างไรดี?

วิธีลดให้ได้ผลอย่างปลอดภัย มี 3 วิธี ได้แก่


1. การควบคุมอาหาร รับประทานไม่เกิน 800-1200 Kcal/วัน หรือใช้สูตรอาหารที่เป็นที่ยอมรับอย่างถูกวิธี เช่น Atkins, Low Carbohydrate, Intermittent Fasting, Mediterranean Diet


2. การออกกำลังกาย ความแรงระดับปานกลาง ให้หัวใจเต้นเร็วระดับสลายไขมัน (zone 2 ขึ้นไป หรือ 60- 80% ของ Maximal Heartrate) เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน จำนวนอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์


ทั้งสองวิธีสามารถลดน้ำหนักได้วิธีละประมาณ 6-9 % ของน้ำหนักตั้งต้น เฉลี่ยลดได้สัปดาห์ละ 0.5-1 กิโลกรัม หากทำร่วมกันสามารถลดได้มากขึ้นเป็นสองเท่า แต่ต้องอาศัยวินัยอย่างมาก คนน้ำหนักยิ่งมากยิ่งมี โอกาสล้มเหลวสูง ผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว ควรรับการตรวจความพร้อมร่างกายจากแพทย์ก่อนเริ่มลดน้ำ หนักเอง ป้องกันเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจวาย ลิ่มเลือดอุดตัน Stroke ฯลฯ


3. การผ่าตัดลดน้ำหนัก ส่งผลลดฮอร์โมนทำให้อยากอาหารน้อยลง ลดขนาดกระเพาะทำให้รับประทานปริมาณ น้อยก็รู้สึกอิ่ม ร่างกายดูดซึมอาหารที่ทานเข้าไปน้อยลง จึงทำให้ลดได้มากและเร็ว เฉลี่ยสุดท้ายมักลดได้ ถึง 18-40% ของน้ำหนักตั้งต้น ได้ผลดีในผู้ป่วย BMI สูงมากที่พยายามลดด้วยสองวิธีแรกแล้วไม่ได้ผล หรือ มีโรคร่วมแล้วจำเป็นต้องรีบลดน้ำหนัก นอกจากนี้พบว่า การผ่าตัดช่วยให้สามารถควบคุมการรับประทาน

อาหารได้ง่ายขึ้น ผลการลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้จึงยั่งยืนที่สุดในทุกวิธี แต่การผ่าตัดก็มีความเสี่ยง และมีค่าใช้จ่าย

สูง


สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาด เมื่อต้องการลดน้ำหนัก

“การซื้อยาลดน้ำหนักมาใช้เอง” ยาลดน้ำหนักมีกลไกโดยเปลี่ยนแปลงการทำงานร่างกายเฉพาะจุด ซึ่งแน่นอนว่ามีผลข้างเคียงต่อระบบที่เกี่ยวข้อง การใช้ยาลดความอ้วนที่ถูกต้องนั้น ณ ปัจจุบันต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น มีข้อบ่งชี้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม เช่น ก่อนผ่าตัด โรคร่วมรุนแรงขั้นวิกฤต น้ำหนักหลังเลิกใช้ยาอาจขึ้นอีกจนมากกว่าน้ำหนักตั้งต้น หรือ “Yoyo Effect” ยาที่มีความปลอดภัยทางการแพทย์มีเพียงไม่กี่ชนิด และไม่อนุญาตให้ขายทั่วไป จึงสามารถกล่าวได้ว่ายาที่อ้างว่าลดความอ้วนได้ ที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงขณะนี้ทุกชนิด ขาดหลักฐานความปลอดภัย และอาจส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้เลยทีเดียว


ไม่ว่าเลือกวิธีใดก็ตาม จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความรู้จริงในวิธีที่เลือก แรงจูงใจ ความตั้งใจ วินัยการดูแลตนเอง การสนับสนุนจากคนรอบข้าง และเมื่อลดน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งใจแล้ว สิ่งที่สำคัญอันดับต่อไป คือ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นใหม่ ด้วยการเลือกใช้ชีวิต ปรับนิสัยและวิถีชีวิตใหม่ การมีทีมสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญสหสาขาโดยเฉพาะนักกำหนดอาหาร และนักกายภาพบำบัดนั้น จะช่วยให้สามารถลดน้ำหนักง่ายขึ้น ลดได้มากขึ้น ปลอดภัยขึ้น คุมน้ำหนักได้ดีขึ้นในระยะยาว


#โรคอ้วน #ยาลดนํ้าหนัก #ลดความอ้วน #ลดนํ้าหนัก


บทความโดย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์โภชนบำบัดและโรคอ้วน

ศัลยแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้อง

ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (ASIT)

โรงพยาบาลพญาไท 3

โทร 02-467-1111

2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page