โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่คนไทยมักเป็น ซึ่งเกิดได้จากทั้งพฤติกรรมการกิน และจากกรรมพันธุ์ ทำให้เบาหวานกลายเป็นอีกโรคที่ไม่ว่าเป็นเพศไหน หรืออายุเท่าไหร่ก็สามารถเป็นกันได้ มาทำความเข้าใจกับโรคนี้กันมากขึ้น เพื่อให้เราสามารถควบคุม และป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เบาหวานคืออะไร..
ถ้าเรารู้ว่าเบาหวานคืออะไร ก็ย่อมง่ายที่จะปฏิบัติตัวและเอาชนะมันได้ และอยู่กับเบาหวานอย่างมีความสุข เบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดเนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง จากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท
อะไรคือ ฮอร์โมนอินซูลิน
อินซูลิน เป็น ฮอร์โมนที่สร้างและหลั่งจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน มีหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน ถ้าร่างกายขาดอินซูลิน หรือการออกฤทธิ์ของอินซูลินไม่ดี ร่างกายก็จะไม่สามารถเอาน้ำตาลไปใช้ได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
เบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ต่างกันอย่างไร
เบาหวานชนิดที่ 1 พบในเด็ก หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี คนที่เป็นเบาหวานชนิดนี้มักผอม เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เบาหวานชนิดนี้ต้องรักษาโดยการฉีดอินซูลิน มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดภาวะหมดสติจากน้ำตาลสูง และกรดคีโตนคั่งในเลือด
เบาหวานชนิดที่ 2 พบได้มากถึงร้อยละ 95-97% ของผู้เป็นเบาหวานทั้งหมด ผู้เป็นเบาหวานชนิดนี้มักอ้วน มีอายุมากกว่า 40 ปี ตับอ่อนยังพอผลิตอินซูลินได้บ้าง แต่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ในระยะแรกอาจรักษาได้ด้วยการควบคุมอาหาร หรือยาเม็ดลดระดับน้ำตาล แต่เมื่อเป็นนานๆ ในบางรายมีเบต้าเซลล์เสื่อมหน้าที่มากขึ้น ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี อาจจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน
โรคเบาหวานชนิดอื่น มีสาเหตุเฉพาะ ได้แก่
> โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
> โรคของตับอ่อน
> ความผิดปกติของฮอร์โมน
> การได้รับยาบางชนิด เช่น กลุ่มสเตียรอยด์ หรือสารเคมีบางชนิด
โรคเบาหวาน.. ที่เกิดในระหว่างตั้งครรภ์
จะมีฮอร์โมนจากรกซึ่งมีฤทธิ์ต้านอินซูลิน เป็นผลให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ถ้าร่างกายไม่สามารถเพิ่มการสร้างอินซูลินให้เพียงพอ จะทำให้เกิดโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ได้ และหลังคลอดมักจะพบว่าโรคเบาหวานหายไป แต่เมื่อติดตามต่อไปจะพบว่า หญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้มาก จึงควรต้องติดตามเพิ่มตรวจหาเบาหวานเป็นระยะ
โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร
คนปกติ แม้ไม่ได้รับประทานอาหาร ตับยังคงสร้างน้ำตาลเพื่อให้ร่างกายใช้เป็นพลังงาน และมีการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนระดับต่ำๆ เมื่อรับประทานอาหารโดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรต (หมวดข้าว แป้ง) จะถูกย่อยสลาย เป็นน้ำตาลกลูโคส ในลำไส้เล็ก และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงาน ระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นในเลือดจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพิ่มขึ้น เพื่อเผาผลาญน้ำตาลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ในผู้เป็นเบาหวานไม่ว่าจะกรณีสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่ได้ หรือสร้างได้ไม่พอ เนื่องจากความต้องการอินซูลินเพิ่มขึ้น เพราะอินซูลินออกฤทธิ์ไม่ดี ร่างกายจะใช้น้ำตาลไม่ได้ ขณะเดียวกันมีการสลายไขมันเพิ่มขึ้น ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จนล้นออกมาในปัสสาวะ สามารถตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะเป็นสาเหตุให้มีมดมาตอมปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เบาหวาน”
เกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน
> ถ้ามีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้าตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
> หลังรับประทานอาหารแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า หรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับมีอาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง กระหายน้ำ น้ำหนักลด ให้ถือว่าเป็นเบาหวานได้เลย
… เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแน่นอน ควรยืนยันผลการตรวจระดับน้ำตาลด้วยการตรวจซ้ำอีกครั้ง…
อาการของเบาหวาน
> ปัสสาวะบ่อย และมากในเวลากลางคืน
> คอแห้ง กระหายน้ำ และดื่มน้ำมาก
> หิวบ่อย รับประทานจุ แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
> ถ้าเป็นแผลจะหายยาก มีการติดเชื้อตามผิวหนังเกิดฝีบ่อย
> คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้เป็นเบาหวานเพศหญิง
> ตาพร่ามัว
> ชาปลายมือ ปลายเท้า หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
สาเหตุ
> กรรมพันธุ์ เบาหวานสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ก็จริง แต่ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่น้อง เป็นเบาหวาน)
ไม่จำเป็นต้องเป็นเบาหวานทุกคน จะมีโอกาสเป็นสูงถ้ามีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
> ความอ้วน
> ผู้สูงอายุ ตับอ่อนสังเคราะห์และหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง
> ตับอ่อนได้รับความกระทบกระเทือน เช่น ตับอ่อนอักเสบ
> การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น คางทูม หัดเยอรมัน หัด
> ยาบางชนิด
> การตั้งครรภ์
การรักษาเบาหวาน
เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด การรักษาเบาหวานให้ได้ผลดี จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เป็นเบาหวาน และญาติ หรือผู้ใกล้ชิดในการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ คือ
1. การควบคุมอาหาร
2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. การรักษาด้วยยาเม็ดลดระดับน้ำตาล และหรืออินซูลิน
4. การเรียนรู้เรื่องโรคเบาหวาน เพื่อดูแลตนเอง
แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเบาหวานควบคุมได้ดีหรือไม่ วิธีประเมินการควบคุมเบาหวาน มี 2 วิธี
1. การวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยทั่วไปหมายถึงระดับน้ำตาลในเลือด ก่อนรับประทานอาหารเช้าหรือ FBS
2. วัดระดับเอ-วัน-ซี ในเลือด (HbA1C)
การวัดระดับน้ำตาลในเลือด ปัจจุบัน มี 2 วิธี คือ
1. วัดจากการเจาะเลือดที่แขน โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2. วัดจากการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว
ระดับน้ำตาลเท่าไร จึงถือว่าควบคุมได้
1. ก่อนอาหาร (FBS) 90-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
2. หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง น้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
#โรคเบาหวาน #นํ้าตาลสูง #อินซูลิน
บทความโดย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกอายุรกรรมโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลสินแพทย์
โทร. 02-793-5000
Comments