top of page

OUR

ARTICLES

ธีรชัย จำปีแก้ว

กินกาแฟใครว่าไม่ดี..? ฉีกทุกความเชื่อสู่การดื่มให้ได้สุขภาพ กับไลฟ์สไตล์แบบนอกกรอบของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์

หากพูดถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนวัยทำงาน เชื่อว่ามีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “กาแฟ” เครื่องดื่มที่หลายคนดื่มเพื่อเพิ่มความตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงเหงาหาวนอนระหว่างการทำงาน แต่บ้านเรามักมีความเชื่อที่ฝังลึกมานาน ว่ากาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาฟีอีน (Caffeine) นั้นมีโทษอย่างมหันต์ ราวกับว่าเป็นยาเสพติดอย่างไรอย่างนั้น เช่น ทำให้กระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือการทำให้อ้วนขึ้น เป็นต้น


ข้อดีของการกินกาแฟ


แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ดาบย่อมมีสองคม เราอาจกำลังชี้คนร้ายผิดตัวก็เป็นได้ เพราะแท้จริงแล้วกาแฟนั้นอาจมีสรรพคุณด้านสุขภาพมากกว่าที่เราคิด เรื่องนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ชวนให้ขบคิดเป็นอย่างมาก เพราะในมุมกลับกันของการดูแลสุขภาพด้วยวิถีชีวิตนอกกรอบของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือนามปากกา “หมอดื้อ”


โดยบทความนี้มีเรื่องที่น่าสนใจของกาแฟอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1. กาแฟใครว่าไม่ดี ?

2. ควรดื่มกาแฟตอนตื่น หรือหลังอาหาร ?

3. กาแฟช่วยเบิร์นไขมันได้


กาแฟใครว่าไม่ดี ?

ศ.นพ.ธีระวัฒน์เปิดเผยว่า ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ติดกาแฟที่มีคาเฟอีนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนอยู่หอพัก โดยดื่มวันละ 3–4 แก้ว แต่ไม่ใส่นมและน้ำตาล หรือกาแฟดำปกติทั่วๆ ไป ด้วยความที่ดื่มมากขนาดนี้จึงได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้คำตอบว่ากาแฟนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายขนาดนั้น อย่างเมื่อข้างต้นที่กล่าวถึงโรคกระดูกพรุนก็ไม่ได้มีหลักฐานที่แน่ชัด


หากจะพูดถึงข้อเสียที่เห็นได้ชัดก็คงจะเป็นอาการใจสั่น หรือมือสั่น ที่ผู้ดื่มกาแฟส่วนมากมักทราบกันดีว่านั่นเป็นสัญญาณของการดื่มมากเกินไป และหากวันไหนไม่ได้ดื่มก็จะรู้สึกง่วง สมองเบลอ เชื่องช้า คิดอะไรไม่ค่อยออกเท่านั้นเอง


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ยังเปิดเผยต่ออีกว่า การดื่มกาแฟให้ประโยชน์ต่อร่างกายหากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม แม้จะมีหลายคนที่คิดต่างก็ตาม แต่ตนก็มีความเชื่อว่าการดื่มกาแฟช่วยทำให้สมองของเราสดใสขึ้น ไม่ง่วงนอน ตื่นตัวขณะทำงาน


นั่นก็เพราะว่าในกาแฟมีคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นประสาทส่วนกลางและกล้ามเนื้อ แก้ความอ่อนเพลีย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งยังมีสรรพคุณทำให้ผิวพรรณดียิ่งขึ้น เพราะเลือดไหลเวียนได้คล่องจากการดื่มกาแฟ นอกจากนี้ยังช่วยย่อยอาหาร และทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานดีขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาอาการท้องผูกได้อีกด้วย


ส่วนผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน ยังแนะนำให้ดื่มกาแฟพร้อมกับยาแก้ปวด เพราะขณะปวดไมเกรน ลำไส้ กระเพาะอาหารจะเคลื่อนไหวช้า ทำให้การดูดซึมของยาช้าลง ซึ่งกาแฟจะเข้าไปทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น และยาจะสามารถออกฤทธิ์ได้ทันเวลา


โทษของกาแฟในสตรีมีครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก

แต่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้พูดถึงข้อเสียที่ส่งผลกระทบจริงๆ ก็คือในผู้หญิงที่ตั้งท้องช่วง 3 เดือนแรก หากดื่มกาแฟที่มีคาฟีอีนมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป จะทำให้มีโอกาส ‘แท้งบุตร’ สูงเป็นอย่างมาก (วารสารนิวอิงแลนด์ 2000;343:1839-45)


ผลวิจัยทางการศึกษา

มีรายงานการศึกษาน่าตื่นเต้น และน่าสนใจในวารสารนิวอิงแลนด์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2012 โดยคณะผู้วิจัยได้รับทุนจากสถาบันสาธารณสุข (NIH) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา มีประเด็นสำคัญก็คือ การดื่มกาแฟมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าปกติหรือไม่


โดยศึกษาจากเพศชาย 229,119 คน เพศหญิง 173,141 คน ที่มีอายุระหว่าง 50 – 71 ปี แต่ต้องไม่เป็นผู้ที่มีโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ หรือมะเร็งมาก่อน ซึ่งผลวิจัยออกมาพบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 – 2008 มีเพศชายเสียชีวิต 33,731 ราย ส่วนเพศหญิง 18,784 ราย เมื่อแบ่งแยกผู้ที่สูบบุหรี่กับไม่สูบออกจากกันพบว่า คนที่ดื่มกาแฟกลับมีการตายที่น้อยกว่า เนื่องจากบุหรี่สามารถทำให้เกิดโรคเส้นเลือด หัวใจ สมอง มะเร็ง และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนโรคมะเร็งนั้นมีจำนวนการตายพอๆ กัน


มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ คนที่ชอบดื่มกาแฟมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่า รวมถึงผู้ที่ไม่ชอบคาเฟอีนแต่ดื่มกาแฟดีแคฟ (Decaffeinated) หรือกาแฟที่มีคาเฟอีนต่ำ ก็ตายน้อยกว่าเช่นกัน เพราะกาแฟไม่ได้มีคุณประโยชน์แค่คาเฟอีนเพียงเท่านั้น แต่มีสารต่างๆ ที่ให้ประโยชน์อีกมากมาย


ควรดื่มกาแฟตอนตื่น หรือหลังอาหาร ?

ก่อนจะไปหาคำตอบกับเรื่องนี้ หรือคิดจะแก้ปัญหาของการง่วงเหงาหาวนอนด้วยกาแฟ ขอหยิบคำแนะนำเรื่อง ‘คุณภาพของการนอน’ จาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่าก่อนที่จะเรียกร้องหากาแฟ เพื่อปลุกความกระชุ่มกระชวยให้แก่การทำงานในแต่ละวัน ควรโฟกัสที่คุณภาพของการนอนด้วย


หากสะสมการนอนที่ไม่ดีจนเรื้อรังเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน เป็นโรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน อีกทั้งยังมีการพิสูจน์ที่แน่ชัดแล้วว่า การนอนไม่มีคุณภาพยังทำให้เกิดโปรตีนไม่ดีชนิดบิดเกลียว (Misfolded Protein) สะสมในเนื้อสมอง ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ ได้


แม้การนอนที่ไม่มีคุณภาพจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่ในกลุ่มคนทำงานบางอาชีพก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกาแฟจึงเป็นทางออกสำหรับเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้ยืนหยัด และกระตุ้นไม่ให้อ่อนเพลียในระหว่างการทำงาน


แต่อย่างไรก็ตามหากดื่มในขนาด 62 มิลลิกรัมของคาเฟอีนต่อ 100cc หรือขนาด 100 – 400 มิลลิกรัม จะทำให้กระบวนการจัดการน้ำตาลในเลือด หลังที่ทานอาหารไปแล้วเกิดการแปรปรวนขึ้นมา บางคนจึงเกิดการระแวงว่าการดื่มกาแฟหลังจากที่นอนอย่างไม่มีคุณภาพ จะทำให้เกิดผลเสียสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มีการศึกษาในระดับที่ลึกพบว่า ภาวะผิดปกติของการจัดการระดับสมดุลของน้ำตาล และอินซูลิน ถูกควบคุมด้วยรหัสพันธุกรรมที่อยู่ในยีน CYP1A2 ซึ่งเป็นตัวควบคุมการขับถ่ายสลายคาเฟอีนในตับ


โดยมีการศึกษาผลของคาเฟอีนกับการจัดการน้ำตาลในเลือด เกี่ยวกับการนอนอย่างกระท่อนกระแท่น หรือไม่มีคุณภาพ โดยก่อนนอนให้กินกาแฟที่มีคาเฟอีน 65 มิลลิกรัม จากนั้นทำการศึกษาในเช้าวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และระดับของอินซูลินมีการพุ่งสูงขึ้นกว่าปกติ


ต่อมาได้มีการทดลองเช่นเดิม แต่เพิ่มการปลุกทุกชั่วโมงเป็นเวลา 5 นาที แล้วตอนเช้าให้ดื่มเครื่องดื่มน้ำตาล จากนั้นทำการดื่มกาแฟดำเข้มข้นในตอนเช้า และอีก 30 นาทีต่อมาตามด้วยเครื่องดื่มน้ำตาล ผลปรากฏว่า ไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการจัดการระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือด ซึ่งผลที่ได้นั้นเหมือนกับการนอนอย่างมีความสุข


ในทางกลับกัน...การดื่มกาแฟดำเข้มข้นก่อนอาหารเช้า กลับทำให้ระบบการจัดการน้ำตาล และอินซูลินไม่ปกติ และเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 50%


สรุปแล้วกินกาแฟตอนตื่น หรือหลังอาหารเช้าถึงจะดี..?

คณะผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์ และสรุปออกมาว่า การดื่มกาแฟตอนเช้าให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ควรจะต้องดื่มหลังจากที่ทานอาหารเช้าไปแล้ว เพื่อป้องกันผลที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะดื้ออินซูลิน และทำให้ระดับอินซูลินสูงเกินไปจากที่ควรจะเป็น รวมถึงระดับน้ำตาลที่ไม่สมดุล แต่มีข้อแนะนำว่าควรจะดื่มเป็นกาแฟดำ หากจะใส่ครีม หรือน้ำตาลนิดหน่อยก็ยังคงทำได้


กาแฟช่วยเบิร์นไขมันได้

มาถึงประเด็นสุดท้ายที่หลายคนอาจสงสัย ว่าการดื่มกาแฟนั้นช่วยเบิร์นไขมันได้หรือไม่ และช่วยเบิร์นได้อย่างไร หากพูดในแง่ของ “การออกกำลังกาย” การดื่มกาแฟสามารถทำให้ออกกำลังได้อึดขึ้น แต่ต้องอธิบายก่อนว่า การทำให้ร่างกายมีการใช้ออกซิเจนได้มากขึ้น หรือที่เรียกกันว่าค่า VO2 Max คือค่าการใช้ออกซิเจนของร่างกายเมื่อออกกำลังอย่างเต็มกำลังถึงที่สุด ซึ่งร่างกายของเรา 1 กิโลกรัมจะใช้ออกซิเจนในกระบวนการนี้เป็นเท่าไหร่ในเวลา 1 นาที (อ้างอิงจาก the MOMENTUM วันที่ 20 พฤษภาคม 2019)


แต่ความอึดขึ้นอยู่กับระดับของการออกกำลัง ที่ทำให้ระบบการหายใจต้องทำงานหนักขึ้น และขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อด้วย ส่วนความอึดของการออกกำลังกายว่าจะมีมากแค่ไหน ตามกลไกของการปฏิบัติในการเบิร์นไขมัน จะขึ้นอยู่กับระดับของการออกกำลังที่ทำให้เกิดการเบิร์นไขมันมากที่สุด หรือที่เรียกกันว่า Fat Max


โดยปกติแล้วคนเราออกกำลังกายธรรมดา หรือการฝึกซ้อมที่มีการเบิร์นไขมันมาก หากไม่ใช้แป้งที่สะสมในตับมากเกินไป ก็จะทำให้มีความอึดมากยิ่งขึ้น


ส่วนเวลาในการออกกำลังกายก็มีความเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความอึดอยู่ด้วย โดยช่วงเช้า พลบค่ำ และตอนกลางคืนจะมีความอึดน้อยกว่าในช่วงตอนบ่ายตามค่าของ MFO และ Fat Max ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เกี่ยวโยงกับความสามารถในการเบิร์นไขมันของทุกคน


โดยกาแฟเป็นสารอัลคาลอยด์ธรรมชาติ จัดเป็นสารช่วยทำให้คนออกกำลัง หรือนักกีฬามีความอึดมากยิ่งขึ้น และมีรายงานมามาก ดังที่ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า กาแฟในขนาดอ่อนถึงเข้มข้น 3–9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถเพิ่มความอึดได้ทุกช่วงเวลาในการออกกำลังกาย แต่กลับมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่ชี้ชัดว่ากาแฟสามารถช่วยการเบิร์นไขมัน และช่วยทำให้ออกกำลังกายได้อึดขึ้นในทุกช่วงเวลา เช้า กลางวัน และเย็นได้หรือไม่


แต่ในรายงานสดๆ ร้อนๆ ในวารสารสมาคมนานาชาติทางโภชนาการกีฬา (International Society of Sports Nutrition) ของปี 2021 ได้ทำการพิสูจน์ว่า กาแฟในขนาดเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยดื่มเป็นเวลา 30 นาที ก่อนการออกกำลังกายประเภทแอโรบิก พบว่าสามารถช่วยให้อัตราการเบิร์นไขมันดียิ่งขึ้น ทั้งช่วงเช้า ช่วงบ่าย และช่วงเย็น ยิ่งหากเป็นการออกกำลังในตอนช่วงบ่าย และมีการดื่มกาแฟร่วมด้วย ร่างกายก็จะยิ่งเบิร์นไขมันได้มากกว่าตอนเช้า


นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟในปริมาณมาก หรือขนาดน้อยกว่าวันละ 50 มิลลิกรัม แต่เป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ และมีน้ำหนัก BMI 18.5-28 ไม่มีโรคประจำตัวที่อาจเกิดอันตรายขึ้นเมื่อมีการออกกำลังกาย โดยมีการทดลองทั้งหมด 4 ครั้งในแต่ละช่วงระยะห่างเจ็ดวัน และประเมินค่า MFO และ VO2 max


ในการทดสอบครั้งแรกเป็นตอนเช้าพร้อมดื่มกาแฟ ส่วนครั้งต่อไปเป็นตอนเย็น แต่เป็นการดื่มกาแฟหลอก จากนั้นตอนเช้าเป็นกาแฟหลอก และครั้งสุดท้ายเป็นตอนเย็นพร้อมกาแฟจริง โดยออกกำลังกายแบบขี่จักรยาน


ผลปรากฏว่า...การออกกำลังกายตอนเย็นนั้นอึดกว่าตอนเช้า และการดื่มกาแฟตอนเช้าก่อนการออกกำลังกาย 30 นาที จะทำให้การเบิร์นไขมันเหมือนกันกับการออกกำลังตอนเย็นโดยไม่ได้ดื่มกาแฟ แต่ถ้าดื่มกาแฟในตอนเย็นจะยิ่งทำให้อึดมากขึ้นไปอีก


สรุปก็คือ การดื่มกาแฟ 30 นาที ก่อนออกกำลังกาย มีส่วนช่วยให้อึดขึ้น และเบิร์นไขมันได้มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นการออกกำลังกายช่วงบ่าย หรือประมาณ 5 โมงเย็น จะยิ่งมีประสิทธิภาพทั้งด้านความอึด และด้านการเบิร์นไขมัน


สุดท้ายนี้...ในมุมความคิดของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังมีความเกี่ยวกับการดื่มกาแฟว่า “การดื่มกาแฟนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย ปกติหมอดื่มกาแฟทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม แม้จะมีหลายคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่ก็ยังเชื่ออยู่ว่าการดื่มกาแฟจะทำให้สมองของเราสดใสขึ้น ไม่ง่วงนอน แต่ถ้าเราติดกาแฟ หรือดื่มมากเกินไป แน่นอนว่าจะมีผลเสียตามมาเช่นกัน”


เพียงเท่านี้เราก็สามารถดื่มกาแฟได้อย่างสบายใจ เพราะอย่างไรกาแฟกับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานก็เป็นของคู่กัน แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้ร้ายที่แท้จริงนั้นไม่ใช้กาแฟ แต่อาจเป็นนม น้ำตาล ครีม หรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทานมากเกินไปก็อาจนำพามาซึ่งผลเสียต่อร่างกาย


#การดื่มกาแฟ #ดื่มกาแฟ #กาแฟ #ข้อดีของกาแฟ #ดื่มกาแฟอย่างไรให้สุขภาพดี #ประโยชน์ของการดื่มกาแฟ


ข้อมูลบทความจาก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอดื้อ)

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์


留言


2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page