top of page

OUR

ARTICLES

โรงพยาบาลพญาไท

กินเท่าไรก็ไม่อ้วน! สัญญาณเตือน “โรคเบาหวาน”

โรคเบาหวาน คือ ความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และเพราะร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนผลิตออกมาไม่เพียงพอ หรือใช้ไม่ได้ตามปกติ เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงนาน ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น ทำให้หลอดเลือดเสียหาย จนทำลายอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต สมอง หัวใจ


สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน

“โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน”

ระดับของน้ำตาลในกระแสเลือด โดยปกติจะอยู่ที่ 70-120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ไตจะกรองน้ำตาลออกมา ทำให้สามารถตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้


ประเภทของโรคเบาหวาน

โดยโรคเบาหวานนั้น โดยทั่วไปแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

> เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ อาการจะเกิด

ขึ้นอย่างรวดเร็ว

> เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อ

การใช้ หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน อาการจะแสดงแบบค่อยเป็นค่อยไป


อาการของโรคเบาหวาน สังเกตเองได้ก่อน

ในระยะแรก โรคเบาหวานจะไม่แสดงอาการผิดปกติ โดยอาจตรวจพบโรคเบาหวาน เมื่อตรวจพบภาวะแทรกซ้อน อาการของโรคเบาหวานแต่ละชนิดจะมีความคล้ายคลึงกัน อาการส่วนใหญ่ที่พบ ที่พอจะบ่งชี้ว่าคุณกำลังเป็นโรคเบาหวานมีได้หลายอาการ เช่น ปัสสาวะบ่อยครั้ง ปัสสาวะกลางคืน คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างผิดปกติ เหนื่อยง่าย ผอมลง อ่อนเพลีย เป็นแผลหรือฝีง่ายแต่หายยาก คันตามผิวหนังและอวัยวะสืบพันธุ์ ตาพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้า ความรู้สึกทางเพศลดลง หากบิดามารดาเป็นเบาหวานมาก่อน ลูกก็จะมีโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้นถึง 6-10 เท่า


การตรวจหาเบาหวาน

ในการตรวจหาเบาหวานนั้น แพทย์จะสอบถามอาการผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย และบุคคลในครอบครัว ร่วมกับการตรวจร่างกาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก โดยวิธีวิเคราะห์ระดับน้ำตาลในเลือดสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

> การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เวลาใดก็ได้

> การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

> การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี

> การทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลิน ต่อระดับน้ำตาลในเลือด


ภาวะแทรกซ้อนของโรค

เบาหวาน เป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ หากไม่มีการควบคุมเรื่องการกินอาหาร และการดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อเส้นเลือดที่นำสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายจนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น

> โรคแทรกซ้อนที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดเล็ก เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคไต

> โรคแทรกซ้อนชนิดที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดแดงส่วน ปลายอุดตัน

> โรคแทรกซ้อนที่ระบบประสาท จนอาจทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนได้ นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่เป็น โรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ และการแท้งบุตรเพิ่มขึ้น


การรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่กับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม

ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในระยะเบื้องต้น สามารถรักษาได้ด้วยการกินอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก หากอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจให้ยา หรือฉีดอินซูลินทดแทน เช่นเดียวกับโรคเบาหวานประเภทที่ 1


การป้องกันโรคเบาหวาน

สิ่งที่สำคัญที่สุด ในการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิด คือ ต้องหมั่นระวังระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ โดยไม่จำเป็นว่าต้องอ้วนหรือผอม เน้นการกินอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นสตรีมีครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ และไปพบแพทย์ตามนัดอย่าได้ขาด


#โรคเบาหวาน #นํ้าตาลสูง


บทความโดย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ

โรงพยาบาลพญาไท 1 ชั้น 5 อาคาร 1

โทร. 02-2014600 ต่อ 2257-2258

Comments


2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page