หลายงานวิจัยระบุว่ามะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และอาหารการกินตามสไตล์คนยุโรป- อเมริกัน เช่น อาหารที่ให้พลังงานสูง หรืออาจเกิดจากพันธุกรรมก็ได้ ซึ่ง “มะเร็งต่อมลูกหมาก” มักเกิดในผู้ชายสูงอายุ โดยระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการ แต่จะพบในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก มีเลือดปนในปัสสาวะ หรือบางรายอาจมีอาการต่อมลูกหมากอักเสบ หรือต่อมลูกหมากโตร่วมด้วย

มะเร็งต่อมลูกหมาก รู้ได้...ด้วยการตรวจสุขภาพ!
หากผู้ป่วยไม่สังเกตอาการตนเอง ไม่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA, Free PSA) อาจทำให้เจอโรคในระยะหลังๆ ที่มะเร็งกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูก จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเป็นจุดๆ ตามร่างกาย ดังนั้นการตรวจสุขภาพ ทำให้ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกเริ่มมากขึ้น แพทย์จึงสามารถรักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้จาก
การตรวจคลำหาก้อนมะเร็งทางทวารหนัก โดยแพทย์จะสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วสอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก ซึ่งผู้ป่วยที่อาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะมีลักษณะแข็งหรือขรุขระ
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูค่าสารบ่งชี้มะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะมีค่า PSA สูงกว่าปกติ
การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมาก แพทย์จะใช้เครื่องมือสำหรับตรวจสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมาก เพื่อหาตำแหน่งของก้อนเนื้อ แล้วจึงเก็บชิ้นเนื้อตัวอย่างออกมาตรวจว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
มะเร็งต่อมลูกหมาก...รักษาได้ ด้วยวิธีเหล่านี้
เฝ้าระวังและตรวจติดตามผู้ป่วยที่คาดว่าจะมีชีวิตอีกไม่เกิน 10-15 ปี และอยู่ในระยะแรกเริ่ม แต่หากเป็นในผู้ป่วยที่อายุยังไม่มาก มีอาการและชนิดของมะเร็งที่ไม่รุนแรงมาก แพทย์จะนัดมาตรวจคลำต่อมลูกหมาก ร่วมกับการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง (PSA) ในเลือด 3 - 4 ครั้งต่อปี และนัดตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากออกมาตรวจทุก 1 - 2 ปี
ผ่าตัดต่อมลูกหมาก แพทย์มักใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่มีสุขภาพโดยรวมแข็งแรง และคาดว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 10 ปี และมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น โดยผลข้างเคียงของการผ่าตัดคือผู้ป่วยอาจเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปัสสาวะลำบาก หรือมีปัสสาวะเล็ดได้
การตัดลูกอัณฑะออก หรือการฉีดยาต้านฮอร์โมน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัด หรือมะเร็งมีการกระจาย ออกนอกตัวต่อมลูกหมากไป
อย่าปล่อยให้ความเงียบของมะเร็งต่อมลูกหมากทำร้ายคุณ หมั่นสังเกตตนเอง ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
รู้เร็ว...รักษาได้
บทความจาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
โรงพยาบาลพญาไท 2
โทร. 02-617-2444 ต่อ 4125, 4185
Yorumlar