top of page

OUR

ARTICLES

  • โรงพญาบาลพญาไท

ก้มหน้าเล่นมือถือ พฤติกรรมแบบนี้...ระวังโรค Mobile Syndrome

“ยุคสังคมก้มหน้า” แน่ล่ะ! เราคงคุ้นหูกับคำๆ นี้กันดี แต่คุณรู้หรือไม่ว่า นิสัยก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลานั้น ไม่เพียงแค่ทำให้เราขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่ยังอาจนำมาซึ่งโรคต่างๆ ได้อีกด้วย เอ๊ะ! แล้วที่กำลังก้มๆ จิ้มๆ อยู่นี้จะเรียกว่าเสพติดได้หรือเปล่า? เรามาเช็กอาการชอบเล่นมือถือของตัวเองกันหน่อยดีกว่า


ก้มหน้าเล่นมือถือเสี่ยงเป็น mobile syndrome


Mobile Syndrome คืออะไร

Mobile Syndrome หรือ Smartphone Syndrome หรือโรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง (Text Neck Syndrome) เกิดจากพฤติกรรมการก้มหน้าใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ อาการทั่วไปก็มีลักษณะเดียวกันกับโรค Office Syndrome ที่พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่เป็น เพราะมักต้องทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดวัน ส่งผลให้บริเวณคอ บ่า ไหล่ เกิดอาการปวด แต่ในส่วนของ Mobile Syndrome มักมีการปวดเกร็งบริเวณข้อมือ นิ้ว และแขนร่วมด้วยมากกว่า


เล่นมือถือทั้งวัน เสี่ยงโรค Smartphone Syndrome หรือเปล่านะ?

แน่นอนว่าใครๆ ก็เล่นมือถือ แล้วเราจะสังเกตตัวเองได้อย่างไร ว่ากำลังเข้าข่ายภาวะ Smartphone Syndrome แล้ว

ในเบื้องต้นเราสามารถดูได้จากสัญญาณเตือนทางกาย เช่น มีอาการปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ คล้ายกับคนที่เป็นออฟฟิศซินโดรม และอาการปวดนี้อาจจะลามลงมาถึงข้อมือ เนื่องจากการเกิดการอักเสบของเอ็นข้อมือจากการใช้มือถือนานๆ นอกจากนี้ การติดเล่นมือถือจนนอนดึกขึ้นก็ทำให้ร่างกายอ่อนล้า ยิ่งหากจ้องมือถือในที่มืดบ่อยๆ ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อตา และประสาทตาทำงานหนักขึ้น เกิดภาวะดวงตาล้า แดง ช้ำ ได้อีกด้วย

เราอาจทดสอบด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ว่าเราเสี่ยงเป็น Smartphone Syndrome หรือยัง ด้วยการใช้นิ้วมือทั้งสี่กำหัวนิ้วโป้งไว้ เหยียดแขน แล้วกดกำมือลง ถ้ารู้สึกเกร็งๆ แปลกๆ แสดงว่าเริ่มมีอาการของโรคแล้ว แต่ถ้าทำแล้วรู้สึกปวดด้วยก็เข่าข่ายต้องรีบรักษา หรืออยู่ๆ พบความผิดปกติ เช่น มีการบวมหรือปวดที่ข้อมือหรือนิ้วมือ แบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ให้เร็วจะดีกว่า


รู้ไหม? ไม่ใช่แค่ทางกาย แต่ยังทำลายสุขภาพจิตด้วย

การเสพติดมือถือไม่ใช่แค่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพกาย แต่อาจก่อให้เกิดโรคทางจิตเวช อย่าง No Mobile Phone หรือ "โนโมโฟเบีย" ภาวะวิตกกังวลกลัวไม่มีมือถือใช้ เมื่อแบตฯ โทรศัพท์ใกล้หมด หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ...ก็จะรู้สึกหวั่นวิตก เครียด หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ รวมไปถึงการหยิบมือถือมาเช็กตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีโรคทางจิตเวชที่น่ากลัวไม่แพ้กัน อย่าง "Facebook Depression Syndrome” หรือ โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก ความรู้สึกเศร้า โดดเดี่ยว หดหู่ เนื่องจากการเห็นสเตตัสเฟซบุ๊กของเพื่อนที่มีแต่ความสำเร็จและความสุข บางคนทนไม่ไหวที่จะต้องรับรู้... จนถึงกับ Unfriend เพื่อนคนนั้นไปเลย หรือแม้แต่พฤติกรรมการรอคอยคอมเมนต์ตอบกลับแบบใจจดใจจ่อ ซึ่งการเสพติดเฟซบุ๊กจนบั่นทอนความสุขนี้สอดคล้องกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่พบว่า.. การใช้เฟซบุ๊กมากเกินไปอาจส่งผลต่อความสุขและความพึงพอใจในการดำรงชีวิตได้

การติดมือถือยังทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น ความจำไม่ดี เพราะสมองได้แต่รับข้อมูลที่ไม่จำเป็นมากจนเกินไปในแต่ละวัน มีความเครียดจากการพะวงกับฟีดข่าว หรือสัญญาณแชทต่างๆ และการเสพข่าวร้าย อีกทั้งความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็จะแย่ลง และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะขาดการสนใจสิ่งรอบตัวจากการมัวแต่ก้มหน้าเล่นมือถือ


การรักษา Smartphone Syndrome หรือ Text Neck Syndrome

โรคนี้เกิดจากพฤติกรรม การรักษาจะมี 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ


1. การแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรม โดยการปรับท่าทางของร่างกายให้อยู่ในอิริยาบถที่ถูกต้องเหมาะสมเมื่อ ต้องใช้โทรศัพท์มือถือ รวมถึงการใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือให้น้อยลง


2. รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เช่น การคลายกล้ามเนื้อ การยืดกล้ามเนื้อ การบริหารร่างกาย และอวัยวะ ต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ร่วมกับการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ลดปวด และการใช้ยาคลาย กล้ามเนื้อ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีการเสื่อมของกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอร่วมกับการกด ทับเส้นประสาท หรือปรายประสาท จะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนเพื่อพิจารณาการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

ในปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดแผลเล็กที่มีความแม่นยำ และปลอดภัยกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม จึงเสี่ยง ต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทค่อนข้างต่ำมาก อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม การปรับ พฤติกรรมจึงเป็นแนวทางป้องกันที่ดีที่สุด


ปรับพฤติกรรม...ช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้

หากรู้ตัวว่ากำลังเสพติดการใช้มือถือจนแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ควรรีบปรับนิสัยสร้างวินัยในการใช้มือถือ โดยหากิจกรรมอื่นๆ มาทดแทนการนั่งเล่นโทรศัพท์ เช่น ออกเดินทางท่องเที่ยว ออกกำลังกาย หาหนังสือดีๆ สักเล่มมาอ่าน หรือนั่งคุยกับเพื่อนตามร้านกาแฟ หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือพยายามให้ท่าทางของคออยู่ในแนวตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ก้มหลัง และไม่ห่อไหล่ ในทุกๆ 1 ชั่วโมง ควรวางมือถือลง และพักการดูสัก 10-15 นาทีโดยไม่แตะต้องเลย เพื่อเป็นการพักสายตา พักคอ พักข้อมือ พร้อมกับบริหารข้อมือเบาๆ เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อไปด้วย


#ก้มหน้าเล่นมือถือ #Mobilesyndrome #สมาร์ทโฟนซินโดรม #โรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง


บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โรงพยาบาลพญาไท

โทร. Phyathai call center 1772

2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page