top of page

OUR

ARTICLES

  • นพ.พลพร อภิวัฒนเสวี, โรงพยาบาลพญาไท

นอนกรน...ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่อาจเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงกรนของคนในบ้านดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่ทนกันจนเคยชิน น้อยคนนักที่จะตระหนักว่าเสียงกรนมักมาพร้อมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้คุณภาพการนอนย่ำแย่ ถึงขนาดเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดย นพ.พลพร อภิวัฒนเสวี แพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก และการรักษาอาการนอนกรน ศูนย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้ข้อมูลว่า.. มีผู้ที่นอนกรนถึงประมาณร้อยละ 25 ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ปล่อยไว้จนเริ่มมีผลกระทบต่อร่างกาย และการดำเนินชีวิตประจำวันมากๆ กระทั่งทนไม่ไหว จึงค่อยตัดสินใจมาพบแพทย์ โดยคุณหมอพลพรแนะนำให้สังเกตสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดังนี้


สัญญาณเตือนภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สัญญาณเตือนภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

> เสียงกรนสะดุดเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ เสียงกรนเงียบไปแล้วกลับมาหายใจเฮือกอีกครั้ง ส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่ ช่วงหยุดหายใจขณะหลับ ตนเองและคนรอบข้างอาจไม่ทันรับรู้ เพราะมักเกิดกลางดึกที่ทุกคนหลับไปแล้ว หรือ ช่วงเช้ามืด ดังนั้นเมื่อมีการนอนกรนให้สงสัยได้ว่า อาจมีการหยุดหายใจขณะหลับ จึงควรสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

> ตื่นมาไม่สดชื่น อ่อนเพลีย เหมือนคนอดนอนทั้งที่นอนเต็มที่ตลอดทั้งคืน

> ง่วงในเวลากลางวัน เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ง่วงระหว่างทำงาน ประชุม ขณะขับรถ

> อายุน้อย แต่ความความดันโลหิตสูงหาสาเหตุไม่ได้ หรือคนที่ความดันโลหิตสูงอยู่แล้วควบคุมยาก

> ความจำสั้น ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย การตัดสินใจไม่มีประสิทธิภาพ


ส่วนใหญ่คนอ้วน หรือน้ำหนักเกินจะมีโอกาสนอนกรนได้มากกว่าคนที่รูปร่างผอม เพราะมีไขมันและเนื้อเยื่อเบียดช่องทางเดินหายใจให้ตีบแคบลง โดยเฉพาะคนเอเชียที่อ้วน จะมีโอกาสเกิดการนอนกรนได้ง่ายกว่าชาวตะวันตก เพราะโครงกระดูกช่วงบริเวณใบหน้าจะเล็กกว่า โพรงจมูกแคบกว่า โอกาสเกิดการตีบแคบจึงมีมากกว่า


รู้ไหม? นอนกรน เสี่ยงสารพัดโรค

คุณหมอพลพรยังอธิบายถึงอันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับว่า “ในช่วงการนอนหลับสมองไม่ได้หยุดทำงาน แต่เป็นช่วงจัดระเบียบข้อมูลให้เป็นระบบ เชื่อมโยงความจำระยะสั้นให้เป็นระยะยาว จัดระเบียบความคิด การหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ออกซิเจนในกระแสเลือดลดต่ำลง หล่อเลี้ยงอวัยะต่างๆ ไม่เพียงพอ สมองจะมีการตรวจจับระดับออกซิเจน และสั่งการกระตุ้นให้ตื่นตัวเพื่อให้หายใจรับออกซิเจน ทำให้คนนอนกรนมีช่วงการหลับลึกสั้น เป็นการหลับระยะตื้นๆ อยู่ตลอด


หากปล่อยไว้นาน นอกจากมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง อย่างโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง ยังเพิ่มโอกาสการเป็นโรคสมองเสื่อมสูงขึ้น เพราะในช่วงที่ภาวะสมองขาดออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเต็มที่เป็นเวลานาน หลังจากสมองใช้งานมาแล้วตลอดวัน จะมีการสะสมเบต้าอะไมลอยด์เปปไทด์ หรือขยะตกค้างในสมอง ซึ่งเป็นตัวการทำลายการทำงาน และการสังเคราะห์สารสื่อประสาท สาเหตุสำคัญของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ หากการนอนหลับไม่ดีจะทำให้การขับถ่าย หรือทำลายสารนี้ออกจากสมองทำได้ไม่ดี จึงตกค้างในสมองได้”


อยากรักษาปัญหานอนกรน...ควรทำอย่างไร?

เมื่อตัดสินใจเข้ารับการรักษา เบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติ พูดคุยถึงปัญหาที่ทำให้ต้องมาพบแพทย์ เช่น ตื่นมาไม่สดชื่น ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ บางคนเป็นผู้บริหารมีผลต่อการตัดสินใจ หรืออุบัติเหตุขณะขับรถ รวมถึงโรคประจำตัว ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่การตรวจร่างกาย และตรวจคุณภาพการนอนหลับด้วยการทำ Sleep Lap เพื่อให้ทราบว่าเป็นรุนแรงระดับไหน สาเหตุจากอะไร ควรใช้วิธีใดรักษา โดยผู้เข้ารับการตรวจจะถูกจัดให้นอนหลับอย่างสบายในห้อง Sleep Lap โดยจะติดเครื่องมือเพื่อตรวจจับสัญญาณจากร่างกายหลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับอย่างละเอียด ดังนี้


> สัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง

> เซ็นเซอร์วัดลมหายใจเข้าออก

> ไมโครโฟนเพื่อวัดระดับเสียงกรน

> ตรวจวัดระดับออกซิเจน

> ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

> ตรวจจับสัญญาณการขยายตัวของปอดและท้อง

> สาเหตุอื่นๆ


นอกจากการทำ Sleep Lap ที่โรงพยาบาลแล้ว ยังมีวิธีตรวจคุณภาพการนอนที่สามารถทำที่บ้าน (Home Sleep Test) โดยจะมีเครื่องบันทึกข้อมูลที่สามารถดึงข้อมูลมาอ่านผลโดยผู้เชี่ยวชาญได้ แต่หากมีโรคประจำตัว แนะนำให้ทำ Sleep Lap ในโรงพยาบาล เนื่องจากหากการทำงานของหัวใจไม่ดี อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น แพทย์และพยาบาลที่ดูแลขณะการทำ Sleep Lap สามารถให้การรักษาในระหว่างการตรวจ ณ ขณะนั้นได้ทันที


เมื่อได้ผลการตรวจที่ชัดเจนแล้ว แพทย์และผู้เข้ารับการรักษาจะนำผลที่ได้มาประเมินร่วมกัน และหาแนวทางการรักษาที่เฉพาะเจาะจง เช่น ใช้เครื่องช่วยขยายทางเดินหายใจ กรณีที่ทางเดินหายใจตีบแคบ ควบคู่กับการวางแผนลดน้ำหนัก หรือกรณีที่ช่องทางเดินหายใจหย่อน ทำการรักษาด้วยเทคนิคกระตุ้นกล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดกรณีที่มีสาเหตุหลักจากโครงสร้างทางเดินหายใจส่วนใดเป็นต้นเหตุ ก็สามารถทำได้


นพ.พลพร ย้ำว่า.. “การนอนกรน เป็นความผิดปกติที่ต้องรักษา เพราะนำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพที่อันตรายถึงชีวิต นอนกรนสามารถรักษาและควบคุมให้การนอนหลับมีคุณภาพ และเป็นปกติได้ โอกาสลงเอยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และอัลไซเมอร์ ก็ลดลง การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดีได้ยาวนานขึ้นด้วย”



บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

แพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก และการรักษาอาการนอนกรน

ศูนย์ หู คอ จมูก

โรงพยาบาลพญาไท 2

โทร 02-617-2444 ต่อ 1235, 1236

2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page