top of page

OUR

ARTICLES

  • โรงพญาบาลพญาไท

เลิกบุหรี่..ไม่ยาก หากทำอย่างถูกวิธี

จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 6 ของคนไทยสูบบุหรี่ โดยจะเริ่มสูบกันตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นไปจนถึงวัยชรา และมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีๆ บุหรี่จึงเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของปัญหาสุขภาพคนไทยที่ควรเร่งแก้ไขในเร็ววัน ปัจจุบันการเลิกบุหรี่ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะมีทั้งเทคโนโลยี และทางเลือกที่หลากหลายเข้ามาช่วยให้คนไข้เลิกได้อย่างถูกวิธีมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีทีมแพทย์และพยาบาลคอยให้คำปรึกษา และพร้อมหาทางออกไปด้วยกันกับคนไข้


ติดบุหรี่

บุหรี่..สาเหตุก่อโรคร้าย !

1. โรคมะเร็ง โรคมะเร็งโดยส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับบุหรี่ทั้งหมด โดยเฉพาะอวัยวะที่รับสารจากบุหรี่โดยตรงจะมี แนวโน้มเป็นมะเร็งมากกว่าส่วนอื่นๆ เช่น ปาก หลอดลม หลอดอาหาร ปอด ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ

2. โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดแดงใหญ่ เช่น อัมพาต โรคหัวใจ

3. โรคถุงลมปอด ถุงลมโป่งพอง หรือโรคถุงลมอักเสบเรื้อรัง


ทั้ง 3 โรคนี้คือโรคที่เกิดจากบุหรี่โดยตรง แต่นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น ผิวหนังเหี่ยวย่นแก่เกินวัย แผลในกระเพาะอาหาร กระดูกบาง ตาเป็นต้อกระจก เบาหวาน ไทรอยด์ ฯลฯ


สูบมากแค่ไหน..เข้าข่าย “เสพติดบุหรี่”

บุหรี่ก็เหมือนยาเสพติดทั่วไป ยิ่งสูบก็ยิ่งติด เมื่อยิ่งหยุดก็ยิ่งอยาก เมื่อไหร่ก็ตามที่เราหยุดสูบแล้วรู้สึกไม่มีความสุข ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย หงุดหงิด อารมณ์เสีย เหมือนอาการลงแดง นั่นแสดงว่าเราติดบุหรี่แล้ว


อาการติดบุหรี่จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ

> พฤติกรรม การสูบบุหรี่จะติดหรือไม่ติดขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการสูบของแต่ละบุคคล บางคนสูบเพียงแค่ 1-2 มวนก็ติดได้เลย และอยากสูบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่บางคนเริ่มทดลองสูบในปริมาณที่เท่ากัน แต่ไม่มีความอยากสูบ เพิ่มขึ้นอีกก็ไม่สามารถทำให้ติดบุหรี่ได้

> พันธุกรรม เช่น มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือติดบุหรี่ เมื่อทดลองสูบแล้วจึงติดง่ายกว่าคนทั่วไป


ทำไม..เราถึงเสพติดบุหรี่

ขณะที่เราสูบบุหรี่ 1 มวน ร่างกายจะได้รับสารเคมีกว่า 4,000 ชนิดเข้าไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสาเหตุในการก่อมะเร็งและโรคอื่นๆ แต่สารเคมีชนิดเดียวที่ทำให้คนเราเสพติดได้คือ ‘นิโคติน’ ซึ่งเมื่อสูบเข้าไปแล้วสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วจะถูกส่งขึ้นไปยังสมองภายใน 6 วินาที เพื่อกระตุ้นสมองให้ปล่อยสารเคมีออกมา สารเคมีตัวที่ 1 จะทำให้เรามีแรง มีพลัง และรู้สึกตื่นตัวตลอด ส่วนสารเคมีตัวที่ 2 ทำให้เรารู้สึกสงบ เป็นสุข สังเกตได้จากเวลาที่เราเครียด หงุดหงิด แล้วอัดบุหรี่เข้าไป ภายในไม่เกิน 10 วินาที สมองเราก็จะหลั่งสารเคมีที่ก่อให้เกิดความสุข เราก็จะรู้สึกสงบและผ่อนคลายจากอาการเครียดทันที สมองโล่ง คิดงานออกได้ง่าย


เมื่อเราสูบไปเรื่อยๆ สมองส่วนหน้าจะสร้างตัวรับต่อนิโคตินมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นสารนิโคตินที่ร่างกายเราต้องการก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราสูบนานมากขึ้น ร่างกายก็จะต้องการนิโคตินมากขึ้น มันจึงเชื่อมโยงกับพฤติกรรมและการให้รางวัล ยกตัวอย่างเวลาที่เราเครียดแล้วสูบเข้าไปก็จะรู้สึกโล่งทันที หรือเวลาที่เราสังสรรค์กับเพื่อนแล้วสูบบุหรี่จะอยู่ต่อได้ทั้งคืน อาการเหล่านี้เกิดจากร่างกายเราเรียนรู้ว่า เราจะให้รางวัลจิตใต้สำนึกของตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายได้นิโคตินเข้าไป สารในสมองก็จะหลั่งออกมา เมื่อเราหยุดสูบบุหรี่จึงเกิดอาการลงแดงตามมา เพราะนิโคตินไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย


ลักษณะของการติดบุหรี่

การติดมีอยู่ 2 แบบคือ ทางร่างกาย และพฤติกรรม ปัจจุบันทางร่างกายเรามียาเพื่อช่วยในทางร่างกายแล้ว เช่น ยากิน หรือนิโคตินซึ่งมีแบบแปะ และแบบหมากฝรั่ง แต่ยาไม่สามารถช่วยด้านพฤติกรรมได้ ซึ่งคนไข้จะเลิกต้องตั้งใจด้วยตัวเองด้วย ดังนั้นการเลิกบุหรี่ต้องใช้ทั้งยา และการรับคำแนะนำจากแพทย์ควบคู่กันไป ถ้าคนไข้ไม่ได้ติดทางร่างกายมากก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาช่วย สามารถหักดิบเลิกได้ด้วยตัวเอง


อาการลงแดงในช่วงแรกของการเลิกบุหรี่

อาการลงแดงก็จะมีอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์แรกที่เลิกบุหรี่ แล้วจะค่อยๆ หายไป คนที่เลิกสูบไปแล้ว ตัวรับต่อนิโคตินในสมองก็จะค่อยๆ ปิดลงเรื่อยๆ อาการอยากสูบ หรือลงแดงก็จะค่อยๆ ลดลงไป ยาจะช่วยลดความอยากทางร่างกายได้ แต่ทางพฤติกรรม ถ้าคนไข้เลิกสูบไปแล้วแต่ยังทำพฤติกรรมแบบเดิม เช่น สูบบุหรี่แก้เครียด หรือสูบหลังกินอาหาร แม้ว่าจะหยุดสูบไปนานแค่ไหนก็ตาม ก็สามารถกลับไปติดใหม่ได้โดยง่ายถ้ายังไม่ปรับพฤติกรรม เพราะนิโคตินจะกลับไปกระตุ้นสมองเราให้ตัวรับต่อนิโคตินทำงานขึ้นมาใหม่ และทำให้เราอยากสูบเหมือนเดิมอีกอยู่ดี


ยาช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงหรือ?

ยาที่ช่วยในการเลิกบุหรี่ในขณะนี้มี 2 แบบคือ


1. นิโคติน ปัจจุบันในไทยมี 2 รูปแบบที่ถูกกฎหมายคือ แบบแผ่นแปะ และแบบหมากฝรั่ง จะใช้ร่วมกันทั้ง 2 แบบ หรือใช้ร่วมกับการกินยาชนิดอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้


2. ยากิน ปัจจุบันมียา 2 ชนิดที่ช่วยในการเลิกบุหรี่

> Champix เมื่อกินเข้าไปแล้วยาจะช่วยกระตุ้นสมองแทนที่นิโคติน กระตุ้นให้สมองปล่อยสารเคมีออกมา และตัวยาจะเข้าไปบล็อกนิโคตินไม่ให้ออกฤทธิ์ที่สมอง ฉะนั้นกินไปสักระยะบุหรี่จะมีกลิ่นเหม็น เพราะเหมือน สูบใบไม้ที่ไม่ได้มีนิโคติน ยานี้จะช่วยกระตุ้นสมองแทนนิโคติน คนไข้ก็จะไม่มีอาการลงแดง คนไข้ก็จะมีเวลา ตั้งตัวในการเลิก ยาชนิดนี้ต้องกินอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกันจึงจะเห็นผล

> Quomem ยาชนิดนี้โดยปกติแล้วใช้เป็นยาแก้โรคซึมเศร้า แต่แพทย์พบว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ากินยานี้แล้ว เลิกบุหรี่ได้ จึงใช้ในคนปกติเพื่อเลิกบุหรี่ด้วย ยานี้ต้องกินติดต่อกัน 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ แต่หากถ้าคนไข้ ติดบุหรี่มากๆ แพทย์อาจจะใช้ยาทุกชนิดร่วมกัน เพื่อทำให้คนไข้เลิกได้สำเร็จ


“กำลังใจ” คือยาที่ดีที่สุดของคนอยากเลิกบุหรี่

นอกจากส่วนของทีมแพทย์ และพยาบาลที่พร้อมให้คำปรึกษากับคนไข้ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การให้ความรู้เกี่ยวกับโรค สิ่งที่สำคัญ..คือการสร้างแรงจูงใจให้คนไข้อยากเลิกบุหรี่ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คนไข้จะต้องเลิกเพราะปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว และปัญหาค่าใช้จ่าย แพทย์จะชี้ให้เห็นว่าแรงจูงใจสำคัญกับคนไข้อย่างไร เพื่อพาคนไข้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้


การให้คำปรึกษาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา แพทย์จะคุยเรื่องแรงจูงใจกับคนไข้ สอบถามดูว่ามีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เขาอยากสูบบุหรี่บ้าง และเขาจะแก้มันได้อย่างไร โดยคนไข้ต้องกลับไปฝึกฝนด้วยตนเอง และทบทวนเรื่องการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ในกรณีที่ต้องใช้ยาร่วมด้วย


บุหรี่นับว่าเป็นโรคทางสมองเรื้อรังที่กลับมาเป็นซ้ำได้ คนที่ติดบุหรี่รุนแรงบางคนเลิกครั้งเดียวอาจจะไม่สำเร็จ บางคนต้อง 5-6 ครั้งกว่าจะเลิกได้อย่างเด็ดขาด คนที่อยากเลิกบุหรี่จริงๆ จึงต้องมาด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีวินัยในการเลิกจริงๆ


#งดสูบบุหรี่ #ติดบุหรี่ #สูบบุหรี่ #เลิกบุหรี่ #บุหรี่ #นิโคติน


บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์อายุรกรรม

โรงพยาบาลพญาไท 2

โทร. 02-617-2444 ต่อ 4104, 4106

2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page