top of page

OUR

ARTICLES

  • นพ.โชติ เหลืองช่อสิริ, โรงพยาบาลพญาไท

ไวรัสตับอักเสบ ภัยเงียบที่มักถูกละเลย...แต่อันตรายถึงชีวิต!!

เมื่อติดเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ตับจะก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ มีอาการตับบวมโต อ่อนเพลีย ซึ่งไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี อี เป็นต้น แต่ที่พบบ่อย และเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี


ไวรัสตับอักเสบที่อันตรายถึงชีวิต


ร่างกายรับเชื้อไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร


> จากกลุ่มผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ เรียกว่า พาหะ (Carrier) ซึ่งพาหะมักเป็นได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซีเท่านั้น


> ไวรัสตับอักเสบเอและอีติดต่อทางอาหาร น้ำดื่ม การสัมผัสอุจจาระ ฉะนั้นการป้องกันควรดื่มน้ำต้มสุก อาหาร ปรุงสุก ล้างมือให้สะอาด ผักผลไม้ล้างให้สะอาด ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบอี ส่วนไวรัสตับอักเสบเอ มีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย


> ไวรัสตับอักเสบบีและซีแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด เช่น เจ้าหน้าที่พยาบาลถูกเข็ม ฉีดยาที่มีเชื้อไวรัสตำมือ ผู้ที่ติดยาเสพติดแล้วใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น


> การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกสำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสสูงมาก แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอัก เสบบีฉีดให้ทารกหลังคลอดทุกราย ทำให้ป้องกันการติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ดีมากเช่นกัน


อาการเหล่านี้..คือสัญญาณเตือนของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน

ไม่ว่าจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดไหนจะมีอาการคล้ายกัน...แต่น้อยหรือมากขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ร่างกายได้รับ และสภาพร่างกายดั้งเดิมของผู้ป่วย ซึ่งอาการโดยมากที่พบ ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง ประมาณ 1 – 4 สัปดาห์ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองจะหายไป

แต่หากมีอาการเหล่านี้...คุณอาจกำลังเป็น “ตับอักเสบเรื้อรัง”

เชื้อไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบเรื้อรังมี 2 ชนิด คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี มักไม่แสดงอาการ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนบ้างในช่วงที่มีภาวะตับอักเสบ การติดเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดการทำลายของเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดภาวะตับแข็ง และเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็ง สามารถตรวจดูการอักเสบของตับได้จากการตรวจเลือด อาการตับแข็ง และมะเร็งตับในระยะแรกไม่มีอาการ แต่อาจมีอาการเพลียบ้าง มักมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด ตัวตาเหลือง


ไวรัสตับอักเสบ เมื่อติดเชื้อแล้ว...ต้องรีบรักษา


> ไวรัสตับอักเสบเอ บี ชนิดเฉียบพลัน และอีส่วนใหญ่ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองรักษาตามอาการ เน้น การรักษาเพื่อลดการอักเสบของตับ เช่น รับประทานอาหารได้น้อย อ่อนเพลียอาจจะให้น้ำเกลือ


> แนะนำการปฏิบัติตัว ได้แก่ การพักผ่อนมากๆ ในช่วงที่มีอาการอ่อนเพลีย สามารถทำกิจกรรมที่ไม่ต้อง ออกแรงมาก การรับประทานอาหารอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง งดแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยง ยาพาราเซตามอล


> การตรวจติดตามผลเลือดเป็นระยะ เพื่อดูการทำงานของตับว่าดีขึ้นหรือไม่


“ไวรัสตับอักเสบซี” ภาวะเรื้อรัง...ที่ส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรง

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื้อรัง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด การรักษาขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของตับ ถ้าหากมีภาวะตับวาย หรือเป็นมะเร็งตับ แพทย์จะไม่รักษาด้วยยารักษาไวรัสตับอักเสบซี เพราะจะเน้นที่การรักษามะเร็งมากกว่า หรือหากมีภาวะตับวาย การรักษาจะมีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์


ไวรัสตับอักเสบ มีโอกาสรักษาหายหรือไม่?


> ไวรัสตับอักเสบบี เมื่อเป็นในระยะเฉียบพลันแล้ว มีโอกาสหายขาดได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ติดเชื้อ แต่มี 5 – 10 เปอร์เซ็นต์เป็นตับอักเสบเรื้อรัง


> ไวรัสตับอักเสบเอและอี การรักษาจะหายขาด ส่วนใหญ่หายได้เอง และมีภูมิต่อโรค ทำให้ไม่เป็นโรคนี้ซ้ำอีก และไม่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ยกเว้นไวรัสตับอักเสบอีในหญิงตั้งครรภ์ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง


> ไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ผลการรักษาขึ้นกับชนิดของไวรัสตับ

อักเสบซี


การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ

> สามารถออกกำลังกายได้ปกติ แต่ไม่ควรหักโหมในช่วงที่มีอาการตับอักเสบเฉียบพลัน

> ควรพักผ่อนให้เพียงพอ

> งดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวได้มากขึ้น และทำให้เซลล์ตับเสื่อมเร็วขึ้น

> การรับประทานยาทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์

> การพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเลือด ดูการทำงานของตับเป็นระยะ

> การมีเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยางอนามัย

> รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง

> เมื่อมีการผ่าตัด หรือทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ

> หลีกเลี่ยงความเครียด

> แนะนำคนใกล้ชิดที่อยู่บ้านเดียวกันให้ตรวจเลือด และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี

> งดการบริจาคโลหิต


#ไวรัสตับอักเสบ #โรคตับ #ไวรัสตับ #การรักษาไวรัสตับอักเสบ #ตับอักเสบเรื้อรัง


บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ

โรงพยาบาลพญาไท 2 ชั้น 4 อาคาร A

โทร 02-617-2444 ต่อ 7401, 7406

2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page