top of page

OUR

ARTICLES

  • นพ.บัญชา เสียมหาญ, โรงพยาบาลพญาไท

คุณหมอแนะ! ไมเกรน อาการปวดหัวเรื้อรัง...ที่คุณป้องกันได้

ปวดหัวไมเกรน...โรคปวดหัวเรื้อรังที่พบได้บ่อย และอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นจากปัจจัย อย่าง แสงจ้า หรือเสียงดังๆ ซึ่งโรคไมเกรนสามารถพบได้ประมาณ 15% ของประชากรทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงานช่วงอายุ 20 - 25 ปี และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า...โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน


อาการปวดหัวไมเกรน

ไมเกรน...ภาวะนี้เกิดขึ้นจากอะไร?

อาการปวดหัวไมเกรนเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่งที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ อาจเกิดจากก้าน หรือเซลล์สมองทำงานผิดปกติ หรือภาวะสารเคมีในสมองไม่สมดุล ส่งผลให้หลอดเลือดไวต่อการกระตุ้นมากเกินไป..เกิดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติขึ้นในสมอง และทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาท และหลอดเลือดในสมอง ถ้ารักษาไม่ถูกต้องและทันท่วงที อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการไวต่อตัวกระตุ้นได้ง่ายขึ้น และการรักษาก็จะยากขึ้นด้วย


เลี่ยงตัวกระตุ้น...เพื่อลดโอกาสการเกิดไมเกรน

แม้ว่าจะยังไม่ทราบถึงสาเหตุของไมเกรนที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งปัจจัยที่พบได้บ่อยๆ ก็เช่น แสงแดด แสงจ้า อากาศร้อน ฝุ่นควัน นอนน้อย แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต และยาคุมกำเนิด รวมไปถึง “ความเครียด” ที่มักเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรนในคนไข้หลายๆ ราย


ปวดหัวแบบไหน...เรียกว่า “ปวดหัวไมเกรน”

อาการที่สังเกตได้อย่างชัดเจนเลยว่า “เรามีอาการปวดหัวไมเกรน” ก็คือ อาการปวดหัวที่มีลักษณะปวดขมับข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง หรือปวดหัวสลับข้างกันก็ได้ และอาจมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดเบ้าตา ปวดตุ้บๆ ตามจังหวะชีพจร และในบางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

อาการปวดหัวไมเกรนมักเกิดขึ้นต่อเนื่องประมาณ 4 - 72 ชั่วโมงหรืออาจมากกว่านั้น และจะปวดมากเมื่อมีการขยับหัว ไอ จาม แต่อาการจะดีขึ้นถ้าได้นอนพักผ่อน อยู่ในที่มืดและเงียบ สำหรับในบางคน อาจมีสัญญาณเตือนก่อนจะเกิดภาวะปวดหัวไมเกรน เช่น เห็นแสง ชาที่แขนหรือขา และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไวต่อการกระตุ้นด้วยแสงหรือเสียงร่วมด้วย


“ปวดหัวไมเกรน” รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

อาการปวดหัวไมเกรน...จะไม่สามารถหายขาดได้!! เพียงแต่ให้การรักษาเพื่อลดโอกาสการเกิดอาการปวดหัวไมเกรน เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญในการรักษาไมเกรน ก็คือ การรับมือและการป้องกันกับอาการปวดมากกว่า เพื่อให้ผู้ป่วยลดความทรมานจากการปวดหัวและสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้

การรักษาอาการไมเกรนจะพิจารณาตามระดับความรุนแรงของอาการปวด โดยหลักๆ แล้วจะเป็นการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่หากทานยาบ่อยเกินไปก็อาจส่งผลให้อาการปวดรุนแรงและถี่ขึ้นได้ จึงต้องให้ยาป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย ส่วนการรักษาไมเกรนด้วยวิธีอื่นๆ ก็เช่น การฉีดยาระงับการทำงานของเส้นประสาทเฉพาะที่ การนวดกดจุด หรือการฉีดโบท็อกซ์ ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาป้องกัน หรือล้มเหลวจากวิธีการป้องกันการปวดศีรษะอื่นๆ


ไม่อยากปวดหัวไมเกรนบ่อยๆ ป้องกันได้ด้วยวิธีนี้!

เพราะวิธีที่ดีที่สุดในการลดอาการปวดหัวไมเกรน คือ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดอาการ ดังนั้น นอกจากการลดไมเกรนด้วยวิธีทางการแพทย์แล้ว การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ทานอาหารให้ตรงเวลา พยายามพักผ่อนในที่เงียบและมืด พร้อมกับนวดบรรเทาเมื่อมีอาการปวด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เมื่อเกิดอาการปวดหัวไมเกรน เป็นต้น


#ปวดหัวไมเกรน #ไมเกรน #ปวดหัว #เครียด


บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

อายุรแพทย์ระบบประสาท

ศูนย์ระบบประสาทสมองและไขสันหลัง

โรงพยาบาลพญาไท 2

Phyathai Call Center 1772

2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page