บุหรี่..สูบแล้วติด พอคิดจะเลิก ไม่สูบก็หงุดหงิด กระวนกระวาย...สุดท้ายกลับมาสูบอีก คุณกำลังมีปัญหาเช่นนี้อยู่หรือไม่ “อยากเลิกบุหรี่ แต่เลิกไม่ได้” ถ้าใช่ มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุแห่งปัญหา และแนวทางแก้ไขที่จะทำให้คุณหลุดพ้นจากเจ้าตัวร้ายทำลายสุขภาพ ที่เป็นปัจจัยความเสี่ยงของโรคต่างๆ มากมาย
ใครก็ตามที่สูบบุหรี่ติดต่อกันทุกวัน...แน่นอนว่าการติดบุหรี่ก็จะเกิดขึ้น และหลายครั้งมักมีคำถามว่า สาเหตุใดที่ทำให้การเลิกบุหรี่ทำได้ยาก? เพราะผู้ที่สูบบุหรี่จะได้รับสารนิโคติน เมื่อเข้าสู่สมองจะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้ร่างกายลดความเครียด มีความสุขใจ รู้สึกดี ตื่นตัวหัวใจเต้นเร็ว รู้สึกมีพลัง และเมื่อใดที่หยุดสูบบุหรี่ก็เท่ากับว่าไม่ได้รับสารนิโคติน มีผลให้อารมณ์ความสุขที่ถูกกระตุ้นโดยสารนิโคตินหายไป ทำให้มีอาการกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด
อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อหยุดสูบบุหรี่ นับเป็นช่วงเวลาแห่งการวัดใจว่า จะสามารถผ่านด่านการเลิกบุหรี่ได้หรือไม่ เพราะถ้าทนกับอาการต่างๆ ได้ การเลิกบุหรี่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องกลับไปสูบอีกเช่นนั้นหรือ? ก็ไม่ใช่เสมอไป เพราะการเข้ารับการปรึกษากับแพทย์คือตัวช่วยที่สำคัญที่จะพาให้คุณผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่ใจคุณไม่สามารถตัดขาดได้ด้วยตนเอง
แนวทางการดูแลรักษา
การเลิกบุหรี่ ใจคือสาระสำคัญ แต่กระบวนการก็มีบทบาทที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย แพทย์จะพิจารณาเลือกแนวทางการเลิกบุหรี่ตามความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ได้แก่
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แพทย์จะซักประวัติ พูดคุยลงลึกในรายละเอียดการใช้ชีวิตเพื่อร่วมกันค้นหาสาเหตุ และวางแผน เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่ ได้แก่
> ค้นหาสาเหตุของการสูบบุหรี่ อาทิ ความเครียด แรงกดดันในชีวิต เมื่อรู้สึกมีความสุข
> วางแผนวิธีการจัดการกับต้นตอของปัญหา อาทิ สูบบุหรี่เพราะเครียด จึงต้องวางแผนหลีกหนีความเครียด
> ร่วมกันค้นหาแรงกระตุ้นกำลังใจในการเลิกบุหรี่ อาทิ เพื่อสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว หรือเพื่อลดค่าใช้ จ่าย
> หาแนวทางเพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้สูบบุหรี่ อาทิ สูบบุหรี่มากในช่วงที่งานเร่ง เริ่มต้นเลิกบุหรี่ก็ควร วางแผนไม่รับงานหนักเกินไป หรือบางคนจะชอบสูบบุหรี่เมื่อไปเที่ยวกลางคืน ดังนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงการเที่ยว กลางคืน เป็นต้น
> แนะนำแนวทางที่จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น การออกกกำลังกาย
> กรณีเลิกได้แล้วเตรียมพร้อมรับมือเพื่อป้องกันการกลับไปสูบใหม่
การใช้นิโคตินทดแทน แพทย์จะพิจารณาให้นิโคตินทดแทน (Nicotine Replacement Therapy: NRT) โดยปัจจุบันมีในรูปแบบต่างๆ อาทิ หมากฝรั่งนิโคติน แผ่นแปะนิโคติน ซึ่งหลักการของนิโคตินทดแทนที่ให้นั้น เพื่อช่วยระงับอาการขาดนิโคติน เพื่อไม่ให้ผู้ที่กำลังเลิกบุหรี่เลิกล้มความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ และแพทย์จะปรับลดขนาดลงเรื่อยๆ สำหรับรูปแบบนิโคตินทดแทนที่แต่ละคนจะได้รับนั้นแพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคล จากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และผลการประเมินการติดบุหรี่
คำถามที่พบบ่อยจากผู้ที่คิดจะเลิกบุหรี่
Q: ถ้าเลิกบุหรี่แล้วจะอ้วนหรือไม่?
นพ.วินัย โบเวจา : คงต้องบอกแบบนี้ครับ ผู้ที่สูบบุหรี่ได้รับสารนิโคตินและสมองหลั่งฮอร์โมนความสุข จึงไม่ค่อยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ประกอบกับร่างกายจะมีการเผาผลาญตลอดเวลา ร่างกายผู้ที่สูบบุหรี่จึงมักมีลักษณะผอมแห้ง ดังนั้นเมื่อเลิกสูบบุหรี่ ระบบเผาผลาญจะไม่ทำงานตลอดเวลาเช่นเดิม และร่างกายจะกระตุ้นให้มีความอยากอาหาร จึงมีแนวโน้มที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น และจะเพิ่มจนถึงจุดสมดุลของการเผาผลาญของร่างกาย ดังนั้นวิธีการออกกำลังกายจึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ไม่ให้ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ดีที่จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อีกด้วย
Q: สูบบุหรี่มาตั้งแต่วัยรุ่น ปัจจุบัน 50 ปี ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ จึงอยากเลิกบุหรี่ ขณะเดียวกันอยากทราบว่ายังจะมีโอกาสเป็นโรคหรือไม่
นพ.วินัย โบเวจา : ต้องบอกว่า สูบมานานย่อมมีความเสี่ยงกว่าคนทั่วไป แต่การันตีเลยว่า ถ้าหยุดสูบบุหรี่ตั้งแต่วันนี้โอกาสที่จะเกิดโรคบางอย่าง เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งช่องปาก ลดลง 50 % ภายใน 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เราทราบกันดีว่าการเลิกสูบบุหรี่คือ ช่องทางที่จะทำให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และหากคุณกำลังสูบขอให้พึงระลึกไว้ว่า บุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ มากมายที่ร้ายแรง ที่จะพรากคุณไปจากคนที่รัก โดยเฉพาะโรคที่ทุกคนต่างกลัวนั่นก็คือ “มะเร็ง” ดังนั้นคุณจะยังคงนำปัจจัยเสี่ยงที่ร้ายกาจนี้เข้าสู่ร่างกายไปทำไมครับ และสำหรับใครที่ใจไม่แข็งพอที่จะเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง ขอให้คุณเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อช่วยให้การมีสุขภาพดีเพราะไม่สูบบุหรี่ เกิดขึ้นกับคุณได้เร็วยิ่งขึ้น
บทความจาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คลินิกอายุรกรรมโรคปอด
โรงพยาบาลพญาไท 3
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 3185-3186, 3133
Comments