ปัญหาจากการทำงานสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมีการแข่งขัน มีความจำทนเพื่อการเลี้ยงชีพ การพบปะ และทำงานกับผู้คนหลากหลาย จึงเกิดความเครียด ความหงุดหงิด ทั้งนี้การฝึกสติสมาธิ เพื่อการควบคุมอารมณ์ จะช่วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่มีสติ ทำให้เราเข้าใจตนเองได้มากขึ้น เช่น รู้ว่าจิตใจเรากำลังขุ่นมัว เมื่อรู้ทันอารมณ์ความรู้สึก ช่วยให้เรามองทุกปัญหาในเชิงบวกมากขึ้น นอกจากนี้สามารถให้รู้ทันการเปลี่ยนแปลง จัดการตนเองให้เข้ากับความเป็นจริงได้อย่างมีสติ เรารู้เท่าทันจิตใจของเราในทุกวัน ปล่อยวาง และยอมรับที่จะอยู่กับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้
การพัฒนาจิตโดยการฝึกสติ และสมาธิส่งผลต่อสมองโดยตรง ช่วยให้สมองส่วนหน้าพัฒนามากขึ้น และแม้ว่าจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว แต่สมองส่วนนี้ก็ยังสามารถพัฒนาให้ทำงานดีขึ้นได้
ขั้นตอนการฝึกสมาธิมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ
1. ฝึกหยุดความคิดด้วยการตามรู้ลมหายใจ คือ การฝึกรับรู้ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก ซึ่งมีประสาทรับรู้ความรู้สึกน้อยกว่า ทำให้เวลารับรู้ จะหยุดความคิดทั้งมวล 2. ฝึกจัดการความคิดที่สอดแทรกเพื่อให้จิตสงบ เมื่อรับรู้ลมหายใจสักพัก จะมีความคิดที่กลับเข้ามาอีก ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่าเผลอคิดเรื่องอื่น ขอให้กลับไปรับรู้ลมหายใจใหม่ ฝึกเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ปล่อยความคิดในจิตใต้สำนึกออกไปจนเบาลง และรับรู้ลมหายใจมากขึ้น 3. ฝึกจัดการกับความง่วงจนจิตสงบและผ่อนคลาย เมื่อมีความง่วงเข้ามาแทรก สามารถแก้ด้วยการยืดตัวตรง หายใจเข้าลึกๆ 4-5 ลมหายใจ หรือเปลี่ยนอิริยาบถเป็นลุกขึ้นยืน ดื่มน้ำ เดิน ล้างหน้า แล้วกลับมานั่งสมาธิต่อได้
ส่วนขั้นตอนการฝึกสติ มี 3 ขั้นตอนเช่นกัน
1. ฝึกมีฐานสติอยู่ที่รู้ลมหายใจเล็กน้อย การรู้ลมหายใจเบาๆ แต่รู้ไว้เพียงบางส่วน เพราะยังต้องทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการรับรู้ลมหายใจ เช่น การฟัง นั่ง ยืน ที่เรารู้สึกเวลาร่างกายสัมผัสกับพื้น
2. ฝึกจัดการความคิดที่เข้ามาสอดแทรกเพื่อจิตสงบ โดยฝึกสติไปตามกิจกรรมที่แตกต่างกันได้ ทั้งกิจภายนอกหรือกิจภายใน ก็คือความรู้สึกนึกคิด
3. ฝึกพัฒนาสติสู่ปัญญาภายใน เมื่อฝึกสติจนชำนาญก็สามารถที่จะปล่อยวางได้ เพราะเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลไปถึงสติในการทำงาน และการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน
ดังนั้นความแตกต่างของการฝึกสมาธิกับสติคือ การฝึกสมาธิช่วยในการพักผ่อน แต่การฝึกสติใช้ในการทำงาน ทำให้เราอยู่กับงานได้อย่างไม่วอกแวก และเรียนรู้ที่จัดการความเครียดในใจได้
บทความจาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โทร 02-343-1500
Comments