top of page

OUR

ARTICLES

  • ธีรชัย จำปีแก้ว

รวมเรื่องต้องรู้! ลดหย่อนภาษีปี 2564 เตรียมพร้อมก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การจ่ายภาษีนั้นถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญและจำเป็น สำหรับผู้มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ที่จะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก่อนที่จะยื่นภาษีควรมีการวางแผนที่ละเอียดและรอบคอบ พร้อมตรวจเช็กรายการลดหย่อนภาษีให้พร้อม ก่อนที่จะทำการยื่นภาษีในปี 2565 ส่วนรายการลดหย่อนภาษี 2564 จะมีอะไรบ้างนั้น BENIX ได้รวบรวมทุกสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษี 2564 ในบทความนี้ แบบครบในที่เดียว


การดูแลหัวนมแตกสำหรับคุณแม่

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


ผู้ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเงินได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง เงินเดือน หรือโบนัส จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่จะขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิของตนเอง ซึ่งคิดจากการนำเงินได้ทั้งปีมาหักกับค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนภาษีที่มีทั้งหมด


**กรณีที่รายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี หากเกินกว่านั้นจะเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% และจะสูงขึ้นตามอัตราภาษีแบบขั้นบันไดแต่รายการลดหย่อนภาษีต่างๆ จะช่วยทำให้รายได้สุทธิลดลง ทำให้เสียภาษีได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีเลย


โดยค่าลดหย่อนที่กล่าวมานี้คือสิทธิประโยชน์ที่จะช่วยให้เสียภาษีได้น้อยลง หรืออาจช่วยให้ผู้ยื่นภาษีได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากขึ้น การวางแผนลดหย่อนภาษีจึงถือเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องติดตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นภาษีในทุกปี เพื่อการลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องและครบถ้วน


รายการลดหย่อนภาษีปี 2564 มีอะไรบ้าง

กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไข

  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้

  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร จะจ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี ซึ่งสามีสามารถขอลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ ส่วนเอกสารหลักฐานที่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาล โดยครอบคลุมทั้งค่าฝากครรภ์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล

  • ค่าลดหย่อนบุตร จำนวนคนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรตามกฎหมายหรือเป็นบุตรบุญธรรม อายุบุตรไม่เกิน 20 ปี หรือ 25 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการเรียน ส่วนกรณีที่บุตรมีอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็ยังสามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

- กรณีที่มีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย : สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ แต่จะต้องตามจำนวนบุตร

จริง

- กรณีที่มีเฉพาะบุตรบุญธรรม : สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท แต่สูงสุดที่ 3 คน

- กรณีที่มีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม : ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน กรณีที่บุตร

บุญธรรมเป็นบุตรคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าหากบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1 – 3 จะสามารถใช้

สิทธิบุตรบุญธรรมได้

  • ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน120,000 บาท แต่จะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งยังไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้ ซึ่งจะต้องมีการระบุลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ว่าบุตรคนใดจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบิดา/มารดา

  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และจะต้องมีหนังสือรับรองสำหรับการเป็นผู้อุปการะ


กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีประกัน เงินออม และการลงทุน

  • เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) สำหรับผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 และสามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 3,003 บาท เนื่องจากปี พ.ศ.2564 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 700 – 3,003 บาท ตามที่ได้จ่ายจริง โดยจำนวนเงินประกันสังคมที่ลดหย่อนได้สูงสุด เป็นข้อมูลในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีประกาศปรับลดส่งเงินสมทบอีกครั้งในช่วงปลายปี

  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ จะสามารถลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท แต่จะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป โดยจะต้องเป็นบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย หากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไข และไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และหากนำมารวมกับประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดาที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)

  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้รวมทั้งปี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ จะต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย ทั้งยังต้องมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ

  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งได้ให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี

  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15%ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่ต้องจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 13,200 ต่อปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ

**สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน RMF กองทุนรวม SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อนำมารวมกันทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท**



กลุ่มค่าลดหย่อนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย มีสิทธิสำหรับการลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท

  • ซื้อบ้านหลังแรกในปี พ.ศ.2558 สามารถลดหย่อนได้ 20% ของราคาบ้าน โดยนำไปลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี (เฉลี่ยปีละ 4%) ส่วนที่อยู่อาศัยนั้นจะราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท

  • ซื้อบ้านหลังแรกในปี พ.ศ.2562 สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนที่อยู่อาศัยนั้นราคาไม่เกิน 5,000,000 บาท


ค่าลดหย่อนกลุ่มเงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงการบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน


กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ : จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยจะต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี ซึ่งจะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

  • กรณีเป็นผู้สูงอายุ : ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี โดยจะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

  • กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล : สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้น สามารถใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล


ข้อควรรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ 1) แบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ 2) แบบ ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น ซึ่งจะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)

  • รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น

  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี สำหรับกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี


ช่องทางการยื่นภาษี

  • ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่สะดวก

  • ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th

  • ยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน จากนั้นจึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้


จะเกิดอะไรขึ้น หากยื่นแบบภาษีช้า


กรณีที่เรายื่นแบบภาษีล่าช้า ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ละเลย หรือเจตนาไม่ยอมชำระ จะต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีบทลงโทษมีดังนี้

  • กรณีที่ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ส่วนเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี

  • กรณีที่ถูกเจ้าพนักงานตรวจสอบพร้อมออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้มีการยื่นแบบแสดงรายการไว้ หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากผู้ยื่นภาษีจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังต้องรับผิดพร้อมเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วในแต่ละกรณี ส่วนเงินเบี้ยปรับดังกล่าวนั้นอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

  • กรณีที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

  • กรณีที่จงใจแจ้งความเท็จ หรือแสดงหลักฐานที่เป็นเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ซึ่งจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

  • เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จะมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ


ทั้งหมดนี้ก็คือรายละเอียดและความสำคัญของการยื่นภาษี เป็นหน้าที่ที่สำคัญและจะต้องมีการวางแผนสำหรับการลดหย่อนภาษี ซึ่งจำเป็นต้องอัปเดตเรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขค่าลดหย่อนภาษีที่กฎหมายกำหนดในทุกปี เพราะแต่ละปีอาจมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือกฎหมาย เพื่อการวางแผนลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยปกติแล้วการยื่นภาษีจะมีรอบการยื่นในช่วงสิ้นปีและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีถัดไป สุดท้ายนี้การวางแผนการเงินที่รัดกุมยังสามารถช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าและถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองได้อีกด้วย


#ยื่นภาษี #ลดหย่อนภาษี #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #เสียภาษี #ภาษี2020 #ภาษี2564


ข้อมูลจาก

กรมสรรพากร, สำนักข่าว TNN, iTAX, Sanook, FINNOMENA, DDproperty


2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page