เคยสงสัยกันหรือไม่...?? กับคำว่าสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตน เงินสมทบ กองทุนเงินทดแทน หรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ประกันสังคม” แท้จริงแล้วคืออะไรอย่างไร เราเป็นผู้ประกันตนมาตราไหน และได้รับสิทธิอะไรบ้าง เบนนิกซ์ได้รวบรวมมาให้แล้วที่นี่!
ประกันสังคม
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่มีรายได้ และสวัสดิการของลูกจ้างที่ได้จากภาครัฐ โดยจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล รวมถึงการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
ความจริงระบบประกันสังคมนั้นเกิดขึ้นมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยได้นำระบบนี้เข้ามาในปี พ.ศ. 2480 และได้เริ่มมีสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้บริการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 สำหรับการคุ้มครองผู้ประกันตน ทั้งจากการเจ็บปวดจากการทำงาน และนอกเหนือจากการทำงาน ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องกับประกันสังคมประกอบไปด้วย
> ผู้ประกันตน
> นายจ้าง
> รัฐบาล
สิทธิประกันสังคม
สิทธิประกันสังคม เป็นกองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่เป็นผู้ประกันตนอยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมถึงกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
ผู้ประกันตน
ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป หากลูกจ้างอายุครบ 60ปีบริบูรณ์ แต่นายจ้างยังจ้างให้ทำงานต่อ ให้ถือเป็นผู้ประกันตนต่อไป ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ลูกจ้าง หรือพนักงานประจำที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
2. กลุ่มที่เคยทำงานประจำแต่ลาออกจากงานแล้ว เป็นผู้ประกันตนที่เคยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อลาออกแล้วยังสมัครใจที่จะจ่ายเงินสมทบอยู่ โดยจะต้องส่งเงินเข้า กองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
3. กลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำ หรือบุคคลที่ทำอาชีพอิสระ อายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี แต่ต้องไม่เคยไม่เคยเป็นผู้ประกัน ตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน
นายจ้าง
นายจ้าง คือ ผู้มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน และเมื่อมีการจ้างลูกจ้างใหม่ จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันเช่นกัน
เงินสมทบ
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องนำส่งกองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากรายได้ของลูกจ้าง อัตราร้อยละ 5 มีฐานค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (เงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 83 บาท และไม่เกินเดือนละ 750 บาท) นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังร่วมจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 2.75 อีกด้วย
กองทุนเงินทดแทน
กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย จากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยไม่ได้คำนึงถึงวัน เวลา และสถานที่ แต่จะดูเฉพาะสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
การประสบอันตรายจากการทำงาน : คือการที่ลูกจ้างได้รับอันตรายทางกาย หรือจิตใจจนถึงแก่ความตาย เนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือทำตามคำสั่งของนายจ้าง
การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน : คือสาเหตุของการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตามลักษณะ หรือสภาพของงาน โดยมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรค
สูญหาย : คือการที่ลูกจ้างหายไประหว่างการทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ หรือหายไประหว่างเดินทางโดยพาหนะ ทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ ตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งเป็นเหตุอันควรที่เชื่อว่าลูกจ้างได้ประสบเหตุอันตราย และลูกจ้างถึงแก่ความตาย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ
คุณเป็นผู้ประกันตนประเภทไหน?
กองทุนประกันสังคม มีผู้ประกันตนทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้
1. ผู้ประกันมาตรา 33
ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือพนักงานเอกชนทั่วไป มีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มี พนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี โดยจำต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ซึ่งคิด เป็นสัดส่วนคือ ลูกจ้าง 5% ของฐานค่าจ้าง ขั้นต่ำ 1,650 บาท และขั้นสูง 15,000 บาท
สิทธิประโยชน์ : ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี
1) กรณีเจ็บป่วย
2) กรณีคลอดบุตร
3) กรณีทุพพลภาพ
4) กรณีตาย
5) กรณีสงเคราะห์บุตร
6) กรณีชราภาพ
7) กรณีว่างงาน
2. ผู้ประกันมาตรา 39
ผู้ประกันมาตรา 39 คือผู้ประกันตนที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อน แต่ลาออกแล้ว และยังต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมเอาไว้ จึงยื่นสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน ซึ่งการสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้จะมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งยังต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ นอกจากนี้ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาท/เดือน และทางด้านรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาท/เดือน
สิทธิประโยชน์ : ผู้ประกันมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี
1) กรณีเจ็บป่วย
2) กรณีคลอดบุตร
3) กรณีทุพพลภาพ
4) กรณีตาย
5) กรณีสงเคราะห์บุตร
6) กรณีชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
3. ผู้ประกันมาตรา 40
ผู้ประกันมาตรา 40 คือผู้ประกันตนที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทตามมาตรา 33 และไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 แต่สมัครใจจะเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 40 เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี และต้องไม่เป็นข้าราชการ หรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม หากเป็นผู้พิการจะต้องเป็นผู้ที่สามารถรับรู้ถึงสิทธิของประกันสังคม ซึ่งผู้สมัครสามารถเลือกสิทธิประโยชน์โดยมีให้เลือก 2 ชุด ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 : จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน (จ่ายเอง 70 บาท รัฐสนับสนุน 30 บาท) สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี
1) กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย
2) กรณีทุพพลภาพ
3) กรณีตาย
ทางเลือกที่ 2 : จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน (จ่ายเอง 100 บาท รัฐสนับสนุน 50 บาท) สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี
1) กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย
2) กรณีทุพพลภาพ
3) กรณีตาย
4) กรณีชราภาพ (บำเหน็จ)
สิทธิประกันสังคม
สำหรับสิทธิประกันสังคมจะมีอยู่ 7 สิทธิประโยชน์กับเงื่อนไขของแต่กรณี แต่จะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกัน
>>> 1. กรณีเจ็บป่วย
กรณีที่เจ็บป่วยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถสรุปการเจ็บป่วยได้ 3 กรณี ดังนี้
1. เจ็บป่วยทั่วไป : ให้ผู้ประกันตนไปโรงพยายามตามสิทธิของตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้น 14 โรคที่ประกันสังคมไม่ครอบคลุม
2. เจ็บป่วยฉุกเฉิน : ให้ไปโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ หรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่ให้ผู้ประกันตนทำการสำรองจ่ายไปก่อน จากนั้นให้รวบรวมหลักฐานต่างๆ มาทำเรื่องเบิกตามอัตราที่กำหนด
3. อุบัติเหตุ : ให้ไปโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ หรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
กรณีที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นรักษาทั้งอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้นค่าห้อง และค่าอาหารที่เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน
> กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท
> กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่
เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท
> กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาท ตามระยะเวลาการผ่าตัด
กรณีทันตกรรม
ให้เข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม (ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้จากสำนักงานประกันสังคม) สามารถรับค่าบริการทางการแพทย์ได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปี
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : ต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน
>>> 2. กรณีคลอดบุตร
> สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
> ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอด เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90
วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
> กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร
>>> 3. กรณีทุพพลภาพ
> รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนตลอดชีวิต ในกรณีทุพพลภาพร้ายแรง หากไม่ร้ายแรง
จะได้รับตามหลักเกณฑ์ และระยะเวลาตามที่ประกาศฯ กำหนด รับค่าบริการทางการแพทย์ หากเข้ารับการรักษาที่โรง
พยาบาลของรัฐ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เท่าที่จ่ายจริงตามจำเป็นและสมควร หากเข้ารับการรักษาที่โรง
พยาบาลเอกชน ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท ในกรณีเป็นผู้
ป่วยใน กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ในส่วนของค่ารถและค่าบริการทางการแพท์ย์ จะ
ได้รับการเหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
> ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ
> หากผู้ทุพพลภาพเสียชีวิต ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท
> ได้รับเงินสงเคราะห์เสียชีวิต หากผู้ทุพพลภาพจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์
เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน
>>> 4. กรณีเสียชีวิต
> ผู้จัดการศพสามารถขอค่าทำศพได้ 40,000 บาท
> เงินสงเคราะห์ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้แก่บุคคลที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสือ ที่ระบุให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่
ผู้ประกันตนเสียชีวิต หากไม่มีหนังสือระบุไว้จะต้องนำมาเฉลี่ยให้แก่บิดามารดา หรือ สามีหรือภรรยา หรือบุตร ใน
จำนวนที่เท่ากัน ซึ่งจะได้เงินสงเคราะห์ดังนี้ หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 120
เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ไม่ 120 เดือน ขึ้นไป จะได้
เงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน
> บุคคลที่เป็นทายาทสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี (ดูรายละเอียดที่กรณีชราภาพ)
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : สาเหตุการเสียชีวิตจะต้องไม่เกิดจากการทำงาน และจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือนขึ้นไป
>>> 5. กรณีชราภาพ
กรณีชราภาพ สามารถแยกเป็น 2 กรณีดังนี้
1. กรณีบำนาญชราภาพ
สิทธิประโยชน์
> หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20
ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
> หากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงิน
สมทบเกิน 180 เดือน ทุกๆ 12 เดือน ที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น
2. กรณีบำเหน็จชราภาพ สิทธิประโยชน์
- หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงิน
สมทบ
- หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและ
นายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
- หากเป็นกรณีที่ผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้
รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องจ่าย 180 เดือน ติดต่อกัน) และต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ รวมถึงจะต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
>>> 6. กรณีสงเคราะห์บุตร
> จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรแบบเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาท ตั้งแต่บุตรอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์
> สามารถขอใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 คน
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน แต่จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
>>> 7. กรณีว่างงาน
> กรณีที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย
ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดจะไม่เกิน 15,000 บาท
> กรณีลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา
ร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ยซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
> กรณีที่ว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน
> กรณีที่ว่างงานเพราะลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่
เกิน 90 วัน
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์
> จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้
ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
> มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
> สามารถขอเงินชดเชยประกันสังคมได้หากถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา โดยไม่มี
ความผิดตามกฎหมาย
> รายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์กรมการจัดหางานของรัฐ ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
> เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่รัฐจัดหาให้ โดยไม่ปฏิเสธที่จะฝึกงาน
> ต้องไม่ถูกเลิกจ้างในกรณีทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย รวมถึงการทำผิดกฎหมายกรณี
ร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร หรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และ
ไม่ใช่ผู้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
Comments