ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนทำให้พบปัญหาอาการปวดตา เมื่อยล้า แสบตา สู้แสงไม่ได้ เนื่องจากการใช้สายตาทำงานกับคอมพิวเตอร์มากเกินไป ซึ่งอาการล้าเกิดจาก 1. การมองคอมพิวเตอร์ในระยะใกล้ ทำให้กล้ามเนื้อตาต้องเกร็งเพื่อปรับโฟกัส 2. แสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์จะกระตุ้นการทำงานของจอประสาทตา (มากกว่าการดูกระดาษพิมพ์) 3. จอคอมพิวเตอร์ที่มีความถี่ต่ำภาพจะเต้นมากกว่าจอที่มีความถี่สูง
นอกจากนี้ บางคนอาจจะมีปัญหาสายตาเอียง สายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน สายตายาว (ยาวตั้งแต่เกิด และยาวเนื่องจากอายุที่มากขึ้น) ดังนั้นการดูคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงหลายวัน ไม่ได้พักตา หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า ผลก็คืออาการปวดตา แสบตา สู้แสงไม่ได้ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้
วิธีแก้ไข
1. ปรับแสง ความสว่างจอคอมพิวเตอร์ให้พอเหมาะกับสภาพแสงภายในห้องทำงาน ปรับสีจอไม่ควรใช้สีที่เป็น โทนสีร้อนแรง
2. ปรับระยะห่างหน้าจอ โดยการเพิ่มระยะห่างให้มากขึ้นเพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อตา
3. ปรับความถี่ของหน้าจอ (Refresh Rate) ให้สูงขึ้น ในกรณีที่สามารถปรับได้
4. ควรพักสายตาเป็นช่วงๆ เท่าที่ทำได้ ด้วยการหลับตาและมองไกลๆ ยิ่งบ่อยยิ่งดี เพื่อให้กล้ามเนื้อตาคลายตัว
5. นวดตาเบาๆ และบริหารกล้ามเนื้อตาด้วยการกลอกตา เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อตาบางมัด
6. การประคบน้ำเย็นในเบื้องต้น ช่วยลดอาการปวด และการประคบน้ำอุ่นในระยะหลัง เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดของเสียที่คั่งค้างในกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสายตา โรคตา หรือมีประวัติครอบครัวเป็นตาต้อหิน ควรพบจักษุแพทย์เพื่อแก้ไข ปัญหา โดยประเด็นที่มักจะถามบ่อย คือ การใช้แว่นกรองแสง หรือป้องกันรังสีจะช่วยลดอาการปวดได้หรือไม่ จริงๆ แล้วจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้แผ่รังสีมากนัก ส่วนคลื่นแม่เหล็กจะไม่ได้พุ่งตรงออกจากหน้าจอแต่จะเป็นวงรัศมี แว่นจึงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
บทความจาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โทร 02 793 5099
コメント