top of page

มารู้จักกับ

เบนนิกซ์

พญ.สุวรรณี รัตนชูวงศ์, โรงพยาบาลพญาไท

“ไข้หวัดใหญ่” ชื่อโรคดูไม่ร้ายเท่าไร แต่มีภัยถึงชีวิต!

“ไข้หวัด” ถือเป็นหนึ่งในโรคสามัญประจำบ้านที่เราต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จนแทบจะรู้สึกว่าไม่ได้มีความร้ายแรงใดๆ สักเท่าไร หรือแม้กระทั่งกับ “โรคไข้หวัดใหญ่” ที่ถึงจะรุนแรงกว่า แต่ด้วยความที่คำว่า “ไข้หวัด” เป็นอะไรที่ไม่ได้ดูอันตรายในการรับรู้ของผู้คนไปแล้ว ก็เลยพาให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงพิษภัยของไข้หวัดใหญ่มากเท่าที่ควร จนกลายเป็นเหตุให้ในแต่ละปี บ้านเรามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่กว่า 1 แสนราย และพบผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยพบผู้ป่วยมากถึงปีละ 390,773 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 588.39 ต่อประชากรแสนคน และเสียชีวิตสูงถึง 27 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.04 ต่อประชากรแสนคนเลยทีเดียว


ไข้หวัดใหญ่

ดังนั้น เพื่อให้ชีวิตเราและคนที่รักปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่มากยิ่งขึ้น จึงเป็นการดีไม่น้อยเลยที่เราจะทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่เอาไว้บ้าง ว่ามีกี่สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์อันตราย รุนแรงแค่ไหน และมีวิธีการป้องกันตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคที่ชื่อธรรมดาๆ แต่ไม่ธรรมดานี้ให้ได้มากที่สุด


ไข้หวัดใหญ่คืออะไร สายพันธุ์ไหนน่ากลัวที่สุด

ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza หรือที่ในทางการแพทย์เราจะเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู” นั้น คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุมาจาก “เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่” ทำให้ผู้ติดเชื้อ มีไข้สูง ปวดหัว ตัวร้อน ไอจาม มีน้ำมูก และปวดเมื่อยตามตัว โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ปัจจุบันถือได้ว่า “ร้ายกาจที่สุด” และส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมเรามากที่สุดนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่


> ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู A” ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ ตลอดจนแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง ทำให้เชื้อมีความเป็นลูกผสม และมีฤทธิ์รุนแรง โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักจะแพร่ระบาดตามฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อย คือ H1N1 และ H3N2

> ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู B” ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายรุนแรงเช่นกัน ที่พบได้บ่อย คือ B Victoria, B Yamagata, B Phuket ซึ่งสามารถระบาดได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาวเช่นเดียวกัน


ไข้หวัดใหญ่อันตรายแค่ไหน สังเกตอาการอย่างไรให้รู้เท่าทัน?

อาการของไข้หวัดใหญ่นั้น โดยทั่วไปก็จะไม่ต่างจากไข้หวัดสักเท่าไร หากแต่มีอาการที่รุนแรงกว่า โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั้นไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่เป็นไข้หวัดใหญ่ ประกอบไปด้วย


> มีไข้สูงมากกว่าปกติ คือตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป

> มีอาการปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย

> มีน้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ มีอาการไอ

> ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามร่างกาย แขน ขา ตามตัว

> ไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะมีระยะเวลาอาการของโรค 5 วัน หากมีอาการนานกว่านั้น อาจเกิดจากการติดเชื้อของ แบคทีเรียแทรกซ้อนที่พบได้ในบางราย


นอกจากอาการดังที่กล่าวไปแล้ว ไข้หวัดใหญ่ยังอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งที่พบบ่อยมากที่สุดเลยก็คือ “ภาวะปอดบวม” และ “หลอดลมอักเสบ” ดังนั้น หากสังเกตพบอาการไข้หวัดที่รุนแรงกว่าปกติ อย่าชะล่าใจว่าเป็นแค่หวัดธรรมดา แต่ควรรีบพบแพทย์ดีกว่า จะได้รักษาได้ทันท่วงที


ใครบ้างที่มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 สายพันธุ์?

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดติดต่อกันได้ผ่านการไอ จาม พูดคุย แล้วสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น “ทุกคน” จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งหมด ซึ่งจะติดเชื้อได้ง่ายมาก-น้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ความรุนแรงและปริมาณของเชื้อ ประกอบกับสภาพร่างกายของเรา คือถ้าร่างกายเราไม่แข็งแรงแล้ว ต่อให้เชื้อไม่ดุ มีปริมาณน้อย เราก็อาจติดเชื้อและเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคคลกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ต้องยิ่งระมัดระวัง เพราะมีโอกาสเกิดภาวะรุนแรงแทรกซ้อนมากที่สุด

> เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี

> ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป

> ผู้หญิงตั้งครรภ์

> ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

> ผู้ที่ปอดไม่แข็งแรง เป็นโรคในระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว

> ผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว ต้องทานยาอยู่เสมอ

> ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม


ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์

การดูแลและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่นั้น สามารถทำได้ในแนวทางเดียวกันกับโรคระบบทางเดินหายใจทุกชนิด คือ


> ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร

> ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้อื่น

> พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่

> ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอจาม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

> สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปยังสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า และโรง ภาพยนตร์ เป็นต้น

> ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส เบิกบาน ไม่เครียด

> ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่วยลดโอกาสป่วย ลดความรุนแรงของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดโอกาสในการเสียชีวิต ตลอดจนช่วยลดค่า ใช้จ่ายในการรักษาได้มากกว่า


ไข้หวัดใหญ่ดูเหมือนจะเป็นโรคธรรมดาๆ ที่ใครๆ ก็คุ้นเคย และรู้สึกว่าไม่น่ากลัวเท่าไรนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วมีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง และในเด็กเล็ก ดังนั้น การไม่ประมาทกับคำว่า “ไข้หวัด” ไม่เห็นเป็นแค่โรคธรรมดา เล็กน้อย จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนพึงมี และทางที่ดีที่สุด ก็คือ ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเอาไว้ จะได้ช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่เจอไข้หวัดใหญ่รบกวน ไม่ต้องเสียสุขภาพกาย สุขภาพใจ เสียค่ารักษาพยาบาล และเสียโอกาสในการทำงาน


#ไข้หวัดใหญ่ #มีไข้ตัวร้อน #ไข้หวัด


บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

แพทย์อายุรศาสตร์ ศูนย์อายุรกรรมทั่วไป

โรงพยาบาลพญาไท 3

โทร.02-467-1111 ต่อ 3185-3186

Comments


2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5103     |     Sales@benix.co.th

bottom of page