ไทรอยด์เป็นพิษ หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนออกมามากเกินไป ส่งผลให้อวัยวะทั่วร่างกายถูกกระตุ้นให้มีการเผาผลาญสูงกว่าปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสายตาที่อาจลุกลามถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น หรือภัยเงียบที่น่ากลัว อย่าง “หัวใจวาย”
สัญญาณแบบไหน? บ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยง “ไทรอยด์เป็นพิษ”
> เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ
> ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย
> หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน หรือมีภาวะซึมเศร้า
> น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ทานในปริมาณเท่าเดิม หรือทานเยอะมากกว่าเดิม
> อาจมีอาการถ่ายเหลว ท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียน
> อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาอ่อนแรง มือสั่น
> ผมร่วง ผิวหนังบาง หรือมีอาการคัน
ไทรอยด์เป็นพิษ...อันตรายถึงชีวิต ได้หรือไม่?
เพราะไทรอยด์มีความสัมพันธ์กับระบบการทำงานหลายด้านในร่างกาย การเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษเรื้อรังนานๆ หรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสายตา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาแห้ง ตาไวต่อแสง ตาแดง บวม ตาโปนออกมามากกว่าปกติ หรือหนังตาปลิ้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
“หัวใจ” ก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจวาย เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ หรือในผู้ป่วยที่ควบคุมระดับไทรอยด์ได้ไม่ดี อาจเกิด “ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤต” ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ท้องเสีย อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง มีภาวะขาดน้ำ และอาจเกิดภาวะช็อก...และเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
รู้ไหม? ไทรอยด์เป็นพิษ...อาจไม่ต้องผ่าตัด
ผู้ป่วยหลายรายเกิดความกังวลและไม่ยอมเข้ารับการรักษา เพราะเข้าใจว่าจะต้องผ่าตัดไทรอยด์เพียงเท่านั้น! แต่จริงๆ แล้ว การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษในปัจจุบันมักนิยมใช้การรักษาด้วยการทานยา โดยแพทย์จะแนะนำให้ทานยาต้านไทรอยด์ประมาณ 1-2 ปี และติดตามดูอาการพร้อมเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะๆ แต่หากไม่ระดับไทรอยด์ไม่ลดลง เกิดการโตของต่อม หรือผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา แพทย์อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาตามความเหมาะสม
เมื่อพบไทรอยด์เป็นพิษ! นี่คือวิธีการดูแลตนเอง
ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นความผิดปกติที่สามารถรักษาได้ด้วยการทานยา ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรใส่ใจในเรื่องการทานยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรลืมทานยาบ่อยๆ เพราะจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล และไม่ควรหยุดยาเอง เพราะเข้าใจว่าไม่มีอาการผิดปกติเท่ากับว่าหายแล้ว แต่อาการที่เคยเป็นอาจถูกกดไว้ด้วยฤทธิ์ของยา
นอกจากการให้ความสำคัญกับการทานยา ผู้ป่วยควรงดสูบบุหรี่ เลี่ยงอาหารที่มีไอโอดีนสูง และหากสังเกตเห็นอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดหมาย
#โรคไทรอยด์ #ไทรอยด์เป็นพิษ #หัวใจวาย #HeartAttack #HearthFailure
บทความจาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ศัลยกรรมผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้องชั้นสูง
โรงพยาบาลพญาไท 2
โทร. 02-617-2444 ต่อ 4161, 4126
Comments