มั่นใจเลยว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า “ไม่ใส่กางเกงใน ระวังจะเป็นไส้เลื่อน” ซึ่งในความเป็นจริงทางการแพทย์นั้น มีผลวิจัยที่ชี้ชัดแล้วว่า จะใส่หรือไม่ใส่กางเกงใน ก็ไม่มีส่วนสำคัญต่อโอกาสเกิดไส้เลื่อนแต่อย่างใด แต่ตัวต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราเป็นไส้เลื่อนได้มากขึ้น ซึ่งทุกคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนนั้น ก็คือ “การซิทอัพหนักๆ ยกเวทหนักๆ” ต่างหาก ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตได้แบบสบายใจห่างไกลจากโรคนี้กันได้มากขึ้น การทำความรู้จักกับโรคไส้เลื่อนแบบจริงๆ จังๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราปลอดภัยได้มากที่สุด
ไส้เลื่อนคืออะไร ทำไมไส้ถึงเลื่อนได้?
“ไส้เลื่อน” คือ การที่ไส้เกิดการย้ายที่ไปจนผิดตำแหน่ง โดยเป็นการเลื่อนจากช่องว่างหนึ่งไปยังอีกช่องว่างหนึ่ง ที่ผิดไปจากตำแหน่งปกติ สาเหตุเกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง ซึ่งอาจเกิดจากการมีรูที่ผนังหน้าท้องมาตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากการมีความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดรู และเกิดเป็นไส้เลื่อนได้ ทั้งนี้ ไส้เลื่อนมีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด ซึ่งจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิด โดยชนิดของไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ไส้เลื่อนขาหนีบ รองลงมาคือไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง และไส้เลื่อนจากแผลผ่าตัด ตามลำดับ
คนกลุ่มไหน พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงทำให้ไส้เลื่อน?
กลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นโรคไส้เลื่อนมากที่สุด คือคนที่มีภาวะผนังหน้าท้องอ่อนแรง หรือเป็นรูมาตั้งแต่กำเนิด แต่ทั้งนี้ถึงจะเกิดมาด้วยผนังหน้าท้องที่ปกติ ก็ยังสามารถที่จะเป็นโรคไส้เลื่อนได้ หากมีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่กระตุ้นให้เกิดความดันในช่องท้องมากขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อน ได้แก่
> คนที่ยกของหนัก ออกกำลังกายหนักๆ ซิทอัพเยอะๆ บ่อยๆ ยิ่งถ้ามีภาวะผนังหน้าท้องอ่อนแอมาแต่กำเนิด ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากขึ้น
> คนที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเป็นประจำ เพราะเหล้าและบุหรี่มีผลต่อการเพิ่มความดันในช่องท้อง รวมถึงทำให้เกิด อาการไอหนัก ไอเรื้อรังได้ ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น และมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากขึ้น
> คนที่ทำงานใช้แรงงาน อาทิ ทำไร่ ทำนา ที่ต้องขุดดิน ยกของหนักเป็นประจำ จะมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้ มากกว่าคนที่ประกอบอาชีพอื่น เพราะลักษณะของการทำงานที่ใช้แรงงานเยอะนั้น จะทำให้แรงดันในช่องท้องมี มากขึ้น จนเป็นเหตุทำให้เกิดไส้เลื่อนได้
> ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากขึ้น เนื่องจากการใช้ชีวิตมาอย่างหนัก ตรากตรำ ออกแรง ใช้งานผนังหน้าท้องมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผนังหน้าท้องอ่อนแรง จนมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้ง่าย ขึ้น
> ผู้ชายมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่าผู้หญิง เนื่องจากสรีระของผู้ชายมีท่อนำอสุจิออกมาบริเวณอัณฑะ ผู้ชาย ทุกคนจึงมีรูอยู่แล้วตรงขาหนีบ ทำให้มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชายสูงวัยที่เป็น โรคต่อมลูกหมากโต ก็ยิ่งเสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อนมากขึ้น เพราะต้องเพิ่มแรงเบ่งปัสสาวะ ส่งผลให้ความดันใน ช่องท้องเพิ่มสูงขึ้นจนมีโอกาสเกิดไส้เลื่อนมากขึ้นได้
อาการแบบไหน เข้าข่ายไส้เลื่อน?
อาการของไส้เลื่อนส่วนใหญ่ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือความรู้สึกหน่วงๆ บริเวณขาหนีบ คลำพบก้อน และมองเห็นได้ว่ามีก้อนแปลกๆ ออกมาบริเวณอัณฑะ ทั้งนี้ โดยปกติทั่วไปแล้ว “ไส้เลื่อนจะไม่มีอาการปวด” แต่จะเป็นเพียงแค่ความรู้สึกหน่วงๆ เท่านั้น แต่หากพบว่ามีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย อาจเกิดจากการที่ลำไส้เกิดการอุดตันจนเกิดภาวะขาดเลือด และเพราะความไม่เจ็บปวดนั้นเอง ทำให้ไส้เลื่อนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้ หากเราปล่อยให้ไส้เลื่อนออกมาแล้วไม่รีบรักษา จนลำไส้ถูกรัดด้วยตัวรูจนขาดเลือด และเน่าจนลำไส้ทะลุ ซึ่งในกรณีร้ายแรงที่สุดนี้ มักเกิดกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่รู้ตัว และปล่อยไส้เลื่อนทิ้งไว้จนถึงภาวะอันตราย
รักษาอย่างไร เมื่อเป็นไส้เลื่อน?
โดยทั่วไปแล้ว การวินิจฉัยไส้เลื่อนนั้นทำได้ง่ายมากด้วยการตรวจร่างกาย ก็จะทราบได้อย่างแน่ชัดแล้วว่าเป็นไส้เลื่อนหรือไม่ เพราะมองเห็นได้ด้วยตา และคลำพบได้ง่าย แต่สำหรับคนไข้บางรายที่ผนังหน้าท้องหนามากกว่าปกติ หรือในรายที่มีน้ำหนักตัวมาก ก็อาจคลำไม่พบได้เช่นกัน หากในกรณีแบบนี้ ก็จะตรวจสอบด้วยการทำ CT Scan เพื่อให้แน่ชัดว่าเป็นไส้เลื่อนหรือไม่ และเป็นในบริเวณใด โดยหลังจากตรวจวินิจฉัยแน่ใจแล้วว่าเป็นไส้เลื่อน แพทย์ก็จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก ซึ่งก็สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยหากเป็นไส้เลื่อนขาหนีบเพียงข้างเดียว แผลผ่าตัดจะเล็กมาก เพียงประมาณ 2-3 นิ้วเท่านั้น
การผ่าตัดแบบเปิด กับการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องจะไม่แตกต่างกันมาก แต่หากเป็นไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง หรือเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ 2 ข้าง การผ่าตัดแบบส่องกล้องจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะแผลจะเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่า และคนไข้จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากภัยไส้เลื่อน?
แนวทางในการดูแลตัวเองเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคไส้เลื่อนนั้น หลักๆ ก็คือ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความดันในช่องท้อง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักแบบหักโหมเกินไป ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเกิดไส้เลื่อน ในขณะเดียวกัน ก็ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติ คลำมีก้อนบริเวณขาหนีบ รู้สึกหน่วงบริเวณขาหนีบ 2-3 วันแล้วไม่หาย ก็ควรรรีบมาปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอย่าลืมว่า การปล่อยไส้เลื่อนทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ อาจถึงขั้นทำให้ลำไส้เน่า แตกทะลุ และติดเชื้อจนเสียชีวิตได้
ดังนั้นไส้เลื่อน ถือเป็นหนึ่งในโรคที่จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ “ตัวเราเองเป็นสำคัญ” คือหากเราดูแลตัวเองไม่ดี ใช้ชีวิตประมาท ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ปล่อยให้ตัวเองไอเรื้อรัง ใช้ร่างกายหนัก ออกแรงเยอะ ยกของหนักเกินไป ออกกำลังกายหักโหมเกินไป ก็จะทำให้เราเสี่ยงภัยไส้เลื่อนได้มากขึ้น ดังนั้น การดูแลตัวเองให้ดี ทำอะไรด้วยความพอดี ระมัดระวังตัวเองในการใช้ชีวิตเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่นอกจากจะทำให้เราปลอดภัยจากไส้เลื่อนได้แล้ว ก็ยังทำให้เราปลอดภัยจากโรคร้าย หรืออันตรายอื่นๆ ได้ด้วย
บทความจาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศัลยแพทย์ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ASIT
โรงพยาบาลพญาไท 3
โทร 02-467-1111
Comments