top of page

มารู้จักกับ

เบนนิกซ์

  • นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล, โรงพยาบาลพญาไท

หดหู่ หงุดหงิดง่าย หลับไม่สนิท สัญญาณ “โรคซึมเศร้า” ที่ต้องรีบรักษา!

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยมาก แต่ผู้คนมักไม่ค่อยตระหนักว่าเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะเข้าใจว่าผู้ป่วยกำลังคิดมากไปเอง และมักปลอบใจด้วยคำพูด..แค่ว่า “อย่าคิดมาก” ซึ่งนั่นไม่ได้มีผลช่วยให้อารมณ์เศร้าดีขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากอาการเศร้าเป็นมากจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง (Neurotransmitter) เพราะฉะนั้นจึงควรเข้ารับการรักษาโดยเน้นการใช้ยาต้านอารมณ์เศร้าเป็นหลัก


โรคซึมเศร้า หดหู่ หงุดหงิดง่าย

ปัจจัยกระตุ้น..ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นโดยมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด หรือภาวะกดดันในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย หรือการสูญเสีย สอบตก อกหัก การนอกใจ ฯลฯ แต่ก็พบได้มากที่ผู้ป่วยเกิดโรคซึมเศร้าได้เอง โดยไม่มีเรื่องกระทบจิตใจแต่อย่างใด


สัญญาณเตือนที่หากนานเกิน 2 สัปดาห์...ควรไปพบแพทย์

อารมณ์

> ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน หมดสนุก

> หดหู่ เศร้าหมอง เบื่อหน่าย ท้อแท้ชีวิต

> หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อ่อนไหวต่อคำพูด


ความคิด

> ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความจำแย่ลง

> มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีสิ่งดีๆ ในตนเอง ขาดความมั่นใจในตนเอง

> รู้สึกว่าตัวเองผิด (อย่างไม่สมเหตุสมผล) รู้สึกตัวเองไร้คุณค่า

> คิดอยากทำร้ายตนเอง หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป


อาการทางกาย

> อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เคลื่อนไหวเชื่องช้า

> ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อต่างๆ

> หลับยาก หลับไม่สนิท หลับแล้วตื่นกลางดึก (นอนต่อไม่หลับ)

> ไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยชอบ ขาดความกระตือรือร้น


โรคซึมเศร้าไม่ใช่เพียงแค่อารมณ์เศร้าที่เกิดจาก “ปัญหาในการปรับตัว” ต่อความเครียดเท่านั้น ภาวะเศร้ามักค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ มีปัญหาบกพร่องในการทำงาน รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง...ควรคิดถึง “โรคซึมเศร้า”


โรคซึมเศร้า รักษาได้

ปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้าได้ผลดีมาก โดยการใช้ยาต้านอารมณ์เศร้า (Antidepressants) ซึ่งมีหลายชนิด เราพบว่าผู้ป่วยแต่ละรายมักได้ผลยาแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งแพทย์จะเริ่มต้นให้ยาในขนาดน้อยๆ แล้วพิจารณาปรับเพิ่มขนาดยาจนถึงระดับที่ออกฤทธิ์ได้ผล ซึ่งมักใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ หากไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนยา เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง


นอกจากการกินยาแล้ว จิตแพทย์จะให้การบำบัดด้วยการ “ปรับความคิด-เปลี่ยนพฤติกรรม” (Cognitive-Behavioral Therapy) เพื่อให้ผู้ป่วยมีมุมมองทางบวกต่อตนเอง และโลกภายนอก เห็นทางออกของปัญหา และตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในการเผชิญเรื่องท้าทายของชีวิต รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความรื่นรมย์ และความเบิกบานให้แก่ชีวิต


ในกรณีที่อารมณ์เศร้าเป็นรุนแรงมาก เช่น มีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตนเอง หรือมีอาการโรคจิตร่วมด้วย ระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน จิตแพทย์จะรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีญาติดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น


กรณีที่กินยาจนอาการเศร้าดีขึ้นแล้ว ไม่ควรหยุดยาเองเพราะอาจทำให้อาการเศร้ากำเริบได้ แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยกินยา (ในขนาดต่ำที่สุด) อย่างต่อเนื่องเป็นปีจนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด


คำแนะนำ..ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยยังไงดี

> รับฟัง เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยระบายความทุกข์ใจ เข้าใจและยอมรับโดยไม่มีการตอกย้ำซ้ำเติม

> ชักจูงให้ผู้ป่วยร่วมกิจกรรมที่สนุกสนาน หรือท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ

> ดูแลให้ผู้ป่วยกินยาตามเวลาอย่างสม่ำเสมอ

> รายงานแพทย์ทันที หากพบว่าผู้ป่วยมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง


#หดหู่ #หงุดหงิดง่าย #หลับไม่สนิท #โรคซึมเศร้า


บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

แผนกจิตเวช

โรงพยาบาล พญาไท 2

โทร.02-617-2444 ต่อ 2444 ต่อ 3970-2

Comentarios


2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5103     |     Sales@benix.co.th

bottom of page